นับจำนวนผู้เข้าชม(counter

วันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ผังงาน (Flowchart)


ความหมายของผังงาน
ผังงาน (Flowchart) คือ รูปภาพ (Image) หรือสัญลักษณ์(Symbol) ที่ใช้เขียนแทนขั้นตอน คำอธิบาย ข้อความ หรือคำพูด ที่ใช้ในอัลกอริทึม (Algorithm) เพราะการนำเสนอขั้นตอนของงานให้เข้าใจตรงกัน ระหว่างผู้เกี่ยวข้อง ด้วยคำพูด หรือข้อความทำได้ยากกว่า
ผังงานแบ่งได้ 2 ประเภท
1. ผังงานระบบ (System Flowchart)
คือ ผังงานที่แสดงขั้นตอนการทำงานในระบบอย่างกว้าง ๆ แต่ไม่เจาะลงในระบบงานย่อย
2. ผังงานโปรแกรม (Program Flowchart)
คือ ผังงานที่แสดงถึงขั้นตอนในการทำงานของโปรแกรม ตั้งแต่รับข้อมูล คำนวณ จนถึงแสดงผลลัพธ์
ประโยชน์ของผังงาน
1. ทำให้เข้าใจ และแยกแยะปัญหาได้ง่าย (Problem Define)
2. แสดงลำดับการทำงาน (Step Flowing)
3. หาข้อผิดพลาดได้ง่าย (Easy to Debug)
4. ทำความเข้าใจโปรแกรมได้ง่าย (Easy to Read)
5. ไม่ขึ้นกับภาษาใดภาษาหนึ่ง (Flexible Language)
ตัวอย่างผังงานระบบไฟแดง
การโปรแกรมแบบมีโครงสร้าง หรือ การโปรแกรมโครงสร้าง ประกอบด้วยอะไรบ้าง
ผมขอตอบอย่างสั้น ๆ ว่าทุกภาษาต้องมีหลักการ 3 อย่างนี้คือ การทำงานแบบตามลำดับ(Sequence) การเลือกกระทำตามเงื่อนไข(Decision) และ การทำซ้ำ(Loop) แม้ตำราหลาย ๆ เล่มจะบอกว่า decision แยกเป็น if กับ case หรือ loop นั้นยังแยกเป็น while และ until ซึ่งแตกต่างกัน แต่ผมก็ยังนับว่าการเขียนโปรแกรม แบบมีโครงสร้างนั้น มองให้ออกแค่ 3 อย่างก็พอแล้ว และหลายท่านอาจเถียงผมว่าบางภาษาไม่จำเป็นต้องใช้ Structure Programming แต่เท่าที่ผมศึกษามา ยังไม่มีภาษาใด เลิกใช้หลักการทั้ง 3 นี้อย่างสิ้นเชิง เช่น MS Access ที่หลายคนบอกว่าง่าย ซึ่งก็อาจจะง่ายจริง ถ้าจะศึกษาเพื่อสั่งให้ทำงานตาม wizard หรือตามที่เขาออกแบบมาให้ใช้ แต่ถ้าจะนำมาใช้งานจริง ตามความต้องการของผู้ใช้แล้ว ต้องใช้ประสบการณ์ในการเขียน Structure Programming เพื่อสร้าง Module สำหรับควบคุม Object ทั้งหมดให้ทำงานประสานกัน 1. การทำงานแบบตามลำดับ(Sequence) : รูปแบบการเขียนโปรแกรมที่ง่ายที่สุดคือ เขียนให้ทำงานจากบนลงล่าง เขียนคำสั่งเป็นบรรทัด และทำทีละบรรทัดจากบรรทัดบนสุดลงไปจนถึงบรรทัดล่างสุด สมมติให้มีการทำงาน 3 กระบวนการคือ อ่านข้อมูล คำนวณ และพิมพ์ 2. การเลือกกระทำตามเงื่อนไข(Decision or Selection) : การตัดสินใจ หรือเลือกเงื่อนไขคือ เขียนโปรแกรมเพื่อนำค่าไปเลือกกระทำ โดยปกติจะมีเหตุการณ์ให้ทำ 2 กระบวนการ คือเงื่อนไขเป็นจริงจะกระทำกระบวนการหนึ่ง และเป็นเท็จจะกระทำอีกกระบวนการหนึ่ง แต่ถ้าซับซ้อนมากขึ้น จะต้องใช้เงื่อนไขหลายชั้น เช่นการตัดเกรดนักศึกษา เป็นต้น ตัวอย่างผังงานนี้ จะแสดงผลการเลือกอย่างง่าย เพื่อกระทำกระบวนการเพียงกระบวนการเดียว 3. การทำซ้ำ(Repeation or Loop) : การทำกระบวนการหนึ่งหลายครั้ง โดยมีเงื่อนไขในการควบคุม หมายถึงการทำซ้ำเป็นหลักการที่ทำความเข้าใจได้ยากกว่า 2 รูปแบบแรก เพราะการเขียนโปรแกรมแต่ละภาษา จะไม่แสดงภาพอย่างชัดเจนเหมือนการเขียนผังงาน ผู้เขียนโปรแกรมต้องจินตนาการด้วยตนเอง

วันอังคารที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ฟักทองต้มกะทิ


เครื่องปรุง
ฟักทอง น้ำหนัก ประมาณ 1 กิโลกรัม
กุ้งสด 2 ขีด
มะพร้าวขูด 5 ขีด
ไข่เป็ด 1 ฟอง
แมงลักเด็ดเป็นใบ 1/4 ถ้วย
หอมแดงซอย 5 หัว
หอมแดงสับหยาบ 2 ช้อนโต๊ะ
พริกไทยเม็ด 10 เม็ด
เกลือป่น 1 ช้อนชา
น้ำตาลโตนด 1/2 - 1 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ1. นำฟักทองมาปอกเปลือก หั่นเนื้อฟักทองเป็นสี่เหลี่ยมใหญ่ตามลูก
2. คั้นมะพร้าวให้ได้หัวกะทิ 1/2 ถ้วย หางกะทิ 2 ถ้วย
3. ล้างกุ้ง ปอกเปลือก เด็ดหัวไว้หาง ผ่าหลังดึงเส้นดำออก
4. โขลกพริกไทยหอมแดงซอย เกลือป่น 1/4 ช้อนชาเข้าด้วยกันให้ละเอียด
5. นำเครื่องแกงที่โขลกแล้ว ละลายเข้ากับหางกะทิใส่ลงหม้อ ตั้งไฟให้เดือด
6. ใส่ฟักทอง พอฟักทองสุก ปรุงรสด้วยเกลือน้ำตาล ออกรสเค็มๆ หวานเล็กน้อย
7. พอได้ที่ใส่หอมแดงสับหยาบ คนพอทั่ว ต่อยไข่ใส่ 1 ฟอง คนพอไข่แตกและสุก ใส่หัวกะทิยกลง
8. ใส่ใบแมงลัก แค่นี้ก็ทานได้แล้ว

กระเพาะปลา


สำหรับเมนูนี้เหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องการรับประทานอาหารไขมันต่ำ แต่ยังคงคุณค่าทางโภชนาการ
วิธีการทำก็ไม่ได้ยุ่งยาก หากมีเวลาน่าจะลองทำเป็นอาหารมื้อเบาๆให้กับสมาชิกในครอบครัวรับประทาน หรือจะเป็นอาหารเรียกน้ำย่อยก็ได้ค่ะ

เครื่องปรุง

เยื่อไผ่ 1/2 ห่อ
เห็ดหูหนูดำ 3 ขีด
เห็ดหอมแห้งแช่น้ำ 5 ดอก
หน่อไม้หั่น / ข้าวโพดอ่อนหั่น 3 ขีด
น้ำซุปผัก 3 ถ้วยตวง
รากผักชีทุบ 1-2 ราก
ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว จิ๊กโฉ่ว

วิธีทำ

1.ทำความสะอาดเยื่อไผ่ แล้วต้มกับน้ำเกลือพอเดือด ล้างน้ำทิ้ง พักไว้
2.ใส่รากผักชีทุบในน้ำซุปผัก พอเดือด
3.ใส่เครื่องทั้งหมด แล้วปรุงรสตามชอบ

วิธีรับประทาน

1.โรยผักชี พริกไทยดำ พริกป่น
2.พริกขี้หนูตำละเอียด ใส่ในน้ำส้มสายชู
3.จะใส่เส้นหมี่ลวกเวลารับประทานด้วยก็ได้

ฉู่ฉี่ปลาทูสด


เครื่องปรุง

ปลาทูสด 3 ตัว
พริกแกงเผ็ด
น้ำปลา
น้ำตาลทราย
พริกชี้ฟ้า หั่นตามยาว
โหระพา เด็ดใบ
หัวกะทิ 1 ถ้วย
หางกะทิ 2-3 ถ้วย
ใบมะกรูด หั่นซอยเป็นเส้นประมาณ 1/3 ถ้วย

วิธีทำ
1. นำหัวหัวกะทิและหางกะทิเทรวมในหม้อ ตั้งไฟเคี่ยวกระทั่งแตกมันและงวดลงไปประมาณครึ่งหนึ่ง รินใส่ภาชนะอื่นพักไว้
2. นำหม้อกะทิใบเดิมขึ้นฟัง ช้อนกะทิด้านบนใส่ลงหนึ่งทัพพี
3. นำพริกแกงเผ็ดประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ ลงผัดกระทั่งหอม ด้วยไฟอ่อนๆ
4. ค่อยๆเติมกะทิลงทีละน้อยแล้วจึงใส่ปลาทูสดที่ควักไส้ ล้างทำความสะอาดแล้วลงไปผัดให้สุกดี
5. ใส่กะทิส่วนที่เหลือ หลังเดือดแล้ว ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาลทราย โยหน้าด้วยพริกชี้ฟ้า ใบมะกรูด โหระพา ตักใส่ภาชนะพร้อมเสิร์ฟ

“แกงอ่อมปลาดุก”แซบสไตล์อีสาน


อาหารอีสานถือเป็นอาหารยอดนิยมของหลายๆ คน เวลานึกอยากกินอาหารรสจัดแซบๆ ขึ้นมา อาหารอีสานจึงมักเป็นตัวเลือกที่ถูกพูดถึงอยู่เสมอ เหมือนอย่างวันนี้ที่ “กุ๊กเล็ก” นึกอยากกิน “แกงอ่อมปลาดุก” ใส่ผักชีลาวเยอะๆ รสจัดๆ จึงไม่รอช้า รีบไปตลาดซื้อวัตถุดิบมาเข้าครัวปรุงทันที

ส่วนผสม

ปลาดุกตัวขนาดกลางหั่นเป็นชิ้น 1 ตัว
ผักชีลาวหั่น 5 ต้น
ต้นหอมหั่น 3 ต้น
มะเขือเปราะหั่นเป็นซีก 3 ลูก
มะเขือพวง 2 ช้อนโต๊ะ
ใบแมงลัก 1 ต้น
พริกขี้หนูสด 15 เม็ด
ตะไคร้หั่น 1 ต้น
หอมแดง 4 หัว
ข้าวเหนียวดิบแช่น้ำให้นิ่ม 2 ช้อนโต๊ะ
น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ
น้ำปลาร้า 1/2 ถ้วย
น้ำเปล่า 2 ถ้วย
พริกชี้ฟ้าแดงสำหรับโรยหน้า 1 เม็ด

วิธีทำ

เริ่มจากล้างปลาดุกให้สะอาด แล้วหั่นเป็นชิ้น หันไปตั้งหม้อต้มน้ำเปล่าให้เดือด ระหว่างนั้นโขลกหอมแดง พริกขี้หนูสดให้ละเอียดแล้วใส่ลงในหม้อ ส่วนข้าวเหนียวที่แช่น้ำไว้ก็โขลกให้ละเอียดแล้วตักลงหม้อตามไป ข้าวเหนียวดิบโขลกหรือข้าวเบือนี้จะทำให้น้ำแกงออกข้นเล็กน้อย จากนั้นใส่มะเขือพวง และมะเขือเปราะผ่าซีก ซึ่งเป็นผักที่สุกช้าลงไปก่อน เสร็จแล้วปรุงรสด้วยน้ำปลาและน้ำปลาร้า พอน้ำเดือดดีแล้วใส่ปลาดุกที่หั่นเป็นชิ้นๆ เมื่อใส่ลงไปแล้วพยายามอย่าคน เพราะจะทำให้เหม็นคาวปลา กะเวลาสักพักให้ปลาสุกดีแล้ว จึงใส่ผักชีลาว ต้นหอม ตะไคร้ และใบแมงลักตามลงไป ใช้ทัพพีกดให้ผักจมน้ำ ปิดฝาหม้อไว้สักครู่ให้ผักสุก เวลาเสิร์ฟหั่นพริกชี้ฟ้าแดงโรยหน้า กินร้อนๆ กับข้าวเหนียวหรือข้าวสวย อร่อยสุดๆ

----------

เมี่ยงตะไคร้


เครื่องปรุง
1.ตะไคร้หั่นฝอย 2.ถั่วลิสงคั่ว 3.ปลาตัวเล็ก(ได้ทุกชนิด)ทอดกรอบ 4.กุ้งแห้งทอด 5.หัวหอมหั่นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า
6.มะนาวหั่นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า 7.ใบชะพลู ส่วนผสมทั้งหมดพอประมาณกะกันตามชอบใจถ้าชอบทานเผ็ดก็พริกขี้หนูซอยเพิ่มได้
8.น้ำจิ้ม ใช้น้ำตาลปี๊บ ครึ่งกิโลกรัม น้ำมะขามเปียกหนึ่งถ้วยเคี่ยวไฟอ่อนๆจนข้น เติมเกลือประมาณหนึ่งช้อนชา ส่วนผสมนี้เพิ่มลดได้ตามใจชอบ

เวลารับประทานก็ตามใจชอบ(อีกแล้ว) จะทานแบบเมี่ยงคำก็ได้
หรือไม่อยากมานั่งทำทีละคำก็นำส่วนผสมทั้งหมดเทรวมกันราดน้ำจิ้มคลุกเคล้าให้เข้ากันใช้ใบชะพลูห่อทานก็ดีแล้วแต่ชอบ^_^
................................

วีรกรรมของชาวบ้านบางระจัน


เหตุการณ์และบทบาทของชาวบ้านบางระจัน เกิดขึ้นเมื่อพม่ายกทัพทั้งทัพบกและทัพเรือมาตี

กรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2306 ในระหว่างนั้น หัวเมืองทั้งใต้และเหนือของไทยเสียแก่พม่าไปหลายเมือง

คนไทยที่ได้รับความเดือนร้อนต้องพาครอบครัวหลบหนีเข้าป่าไปเป็นจำนวนมาก ในขณะนั้น มีคนไทย
กลุ่มหนึ่งคิดต่อสู้กับพม่า บอกข่าวชักชวนชาวบ้าน นัดแนะทำกลลวงพม่าแล้วฆ่าพม่าไปจำนวนไม่น้อย
จากนั้นกลุ่มคนไทยดังกล่าวได้พากันหลบหนีพม่าไปหาพระอาจารย์ธรรมโชติ ที่วัดเขาเดิมบาง

นางบวช พระอาจารย์ผู้นี้มีวิชาอาคมเป็นที่ยกย่องนับถือของชาวบ้าน กลุ่มคนไทยจึงได้นิมนต์ให้ไปอยู่

ที่วัดโพธิ์เก้าต้น ในขณะนั้นมีราษฎรชาวเมืองวิเศษไชยชาญ ชาวเมืองสิงห์และเมืองสรรค์ พากัันหลบหนี

พม่ามาชุมนุมกันในหมู่บ้านบางระจันกันมากมาย ด้วยหมู่บ้านแห่งนี้มีชัยภูมิที่ดีี่ยากที่พม่าจะยกทัพเข้ามาตี
ทั้งยังมีเสบียงอาหารอุดมสมบูรณ์ หัวหน้ากลุ่มคนไทยพากันหลบหนีมาชุมนุมกันที่นี้ โดยมีพรรคพวกที่
เป็นชาวบ้านติดตามมาอยู่ด้วย ชาวบ้านบางระจันได้ร่วมมือกันสร้างค่ายขึ้นล้อมรอบหมู่บ้าน จัดกำลังคน

เป็นหมวดหมู่ทำหน้าที่รักษาค่าย เตรียมหาอาวุธไว้ต่อสู้กับศัตรู วางกองสอดแนมคอยสืบข่าวความ

เคลื่อนไหวของฝ่ายพม่า

วันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ประวัติ จังหวัดเพชรบุรี


เขาวังคู่บ้าน ขนมหวานเมืองพระ เลิศล้ำศิลปะ แดนธรรมะ ทะเลงาม

จังหวัดเพชรบุรี จัดอยู่ในเขตภาคกลางตอนล่าง ห่างจากกรุงเทพฯ ตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 ต่อเนื่องกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 ระยะทางประมาณ 160 กิโลเมตร ทางด้านตะวันตกมีภูมิประเทศติดเทือกเขาตะนาวศรี ชึ่งมีลักษณะเป็นป่าเขาทึบ เป็นแนวกำแพงธรรมชาติกั้นระหว่างประเทศไทยกับ ประเทศพม่า ทางทิศตะวันออกติดชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ชายฝั่งตั้งแต่ตอนบนลงไปถึงแหลมผักเบี้ยเป็นหาดโคลน ป่าชายเลน และป่าโกงกาง ถัดจากแหลมผักเบี้ยลงไปจนต่อเนื่องถึงหาดหัวหิน เป็นหาดทรายที่มีภูมิทัศน์ที่สวยงามและเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวมาช้านาน

มีหลักฐานให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์ของไทยหลายพระองค์ ได้ทรงโปรดปรานเมืองเพชรแห่งนี้มาก เช่นสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้เสด็จมาประทับที่เมืองเพชรบุรีเป็นเวลาถึง 5 ปี ก่อนจะทรงยกทัพใหญ่ไปรบพม่า และสวรรคตที่เมืองหาง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้สร้างพระราชวัง วัดและพระเจดีย์ใหญ่ขึ้นบนเขาเตี้ย ๆ ใกล้กับตัวเมืองและพระราชทานนามว่า “พระนครคีรี” ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงโปรดให้สร้างพระราชวังอีกแห่งหนึ่งในตัวเมืองเพชรบุรี คือ “พระรามราชนิเวศน์” หรือที่เรียกกันภาษาชาวบ้านว่า “วังบ้านปืน” และ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าให้สร้างพระราชวัง “พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน” ขึ้นที่ชายหาดชะอำเพื่อใช้เป็นที่ประทับรักษาพระองค์

จังหวัดเพชรบุรีมีชื่อเสียงในหลายๆด้าน น้ำตาลเมืองเพชร ขนมหวานเมืองเพชร ขนมหม้อแกงเมืองเพชร เป็นผลิตภัณฑ์ที่รู้จักและติดปากติดใจของคนไทยมานาน เพชรบุรีมีชายหาดสวยๆเช่นหากปึกเตียน หาดเจ้าสำราญ หาดชะอำ เพชรบุรีมีอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ที่สุด กว้างใหญ่ที่สุดของไทย สถาปัตยกรรมแบบเพชรบุรี ฝีมือช่างเพชรบุรีวัดวาอารามที่มีความ ผสมผสานระหว่างเก่าและใหม่ ดูเป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว การเดินทางมาจากกรุงเทพก็ ง่ายดายได้ทั้งทางรถไฟและรถยนต์ นักท่องเที่ยวแบบเดินทางตามลำพังเดินเท้าสะพายเป้ก็สะดวก มีบ้านพักราคาถูกในตัวเมืองรองรับทุกราคา

น้ำตกสวนห้อม


น้ำตกสวนห้อม ซึ่งน้ำตกจะมีน้ำมากในช่วงหน้าฝน ระหว่าง เดือนกรกฎาคม-เดือนตุลาคม เช่นเดียวกัน ทางไปน้ำตกจะใช้เส้นทางเดียวกับการไปน้ำตกห้วยใหญ่ แยกซ้ายเข้าซอยเทศบาล 4 ที่บริเวณตลาดสดศาลเจ้าพ่อ (ตลาด 79) แต่รถที่ใช้ควรเป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อ จึงจะเหมาะสมต่อการเดินทาง

น้ำตกวังเต่า

น้ำตกวังเต่าอยู่บนเทือกเขาสันกำแพง อุทยานแห่งชาติทับลาน โดยได้ชื่อว่า "แก่งครบุรี...ต้นน้ำมูล" ตั้งอยู่บริเวณเขื่อนลำแชะ หมู่บ้านมาบกราด ตำบลโคกกระชาย อำเภอครบุรี ซึ่งเป็นจุดกำเนิดแม่น้ำ 3 สาย ที่เรียกกันว่า "สามง่าม" โดยสายที่ 1 ต้นน้ำมูล แหล่งกำเนิดของแก่งน้ำโตน น้ำตกวังถ้ำ น้ำตกวังมะนาว ไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนมูลบน หาดจอมทองและยังเป็นแหล่งดูนกหายาก สายที่ 2 ต้นน้ำลำแชะ แหล่งกำเนิดวังไผ่ วังยาว ซับเป็ด วังแปะ วังไทร วังเต่า วังวนไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนลำแชะและสายที่ 3 ต้นกำเนิดลำมาศ อ่างเก็บน้ำเขื่อนลำมาศ


การเดินทาง จากตัวเมืองไปยังอำเภอครบุรี ตามทางหลวงหมายเลข 224 ผ่านอำเภอโชคชัย ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 2071 ถึงอำภอครบุรี รวมระยะทางประมาณ 58 กิโลเมตรแล้วเดินทางต่อสู่เขื่อนลำแชะตามด้วยเส้นทางบ้านโคกเจริญ ตำบลเฉลียง เลี้ยวซ้ายตามทางไปเขื่อนลำแชะอีกประมาณ 10 กิโลเมตร ขับตรงไปประมาณ 10 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าสู่บ้านมาบกราด ไปท่าเรืออีก 200 เมตร

ทองสมบูรณ์คลับ


ตั้งอยู่ที่เลขที่ 119 หมู่ 10 ถนนปากช่อง-หัวลำ ตำบลปากช่อง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงผจญภัยที่เหมาะกับครอบครัวและผู้ที่ชอบความตื่นเต้นท้าทาย นักท่องเที่ยวจะได้สนุกสนานกับการขี่ม้าสไตล์ตะวันตก และเครื่องเล่นชนิดต่างๆ เช่น รอกลอยฟ้า (Flying Fox) กิจกรรมโรยตัว (Abseiling) ขับรถชมวิว รถเอทีวี (ATV) โกคาร์ท (Go-cart) คาร์ทครอส (Cart-cross) ลูจ (Luge) และกระเช้าลอยฟ้า (Ski Lift) เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00 น.-18.00 น.นอกจากนี้ยังมีล่องแก่งไม้ซุง และที่พักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. 0 4431 2248 .0 4431 2316,0 4424 9694, 0 9967 7550 www.thongsomboon-club.com อีเมล์ contact@thongsomboon-club.com

ตลาดผลไม้กลางดง


ตลาดผลไม้กลางดง เป็นแหล่งจำหน่ายผลิตผลเกษตรของนครราชสีมาและจังหวัดใกล้เคียง ผลไม้ที่มีชื่อเสียงมากของกลางดง คือ น้อยหน่า ซึ่งมีขายเกือบตลอดปี ช่วงเวลาที่มีขายมากเพราะต้นให้ผลดก คือ ช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม พันธุ์ที่นิยมปลูกกันมาก ได้แก่ พันธุ์ฝ้าย พันธุ์หนัง และพันธุ์ออสเตรเลีย พันธุ์ฝ้ายนั้นเป็นที่รู้จักกันมาช้านาน ถ้าซื้อไปฝากญาติผู้ใหญ่จะเป็นที่ชื่นชอบมากเพราะรับประทานง่าย สำหรับพันธุ์ออสเตรเลียนั้นผลมีสีเขียวและรสดีมาก แต่ยังมีผู้นิยมบริโภคน้อยเนื่องจากยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายและราคาสูงกว่าพันธุ์อื่น

ตลาดกลางไม้ดอกไม้ประดับโคกกรวด


ตลาดกลางไม้ดอกไม้ประดับโคกกรวด อยู่ที่ ต.โคกกรวด จากตัวเมืองนครราชสีมาใช้เส้นทางนครราชสีมา – กรุงเทพฯ ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร แล้วแยกซ้ายเข้าเส้นทางโคกกรวด – มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อีก 500 เมตร เป็นศูนย์รวมไม้ดอกไม้ประดับแหล่งใหญ่ที่อยู่ใกล้ตัวเมืองที่สุด

วันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2553

กลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปสุกรบ้านน้อยสามัคคี


กลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปสุกรบ้านน้อยสามัคคี ม. 15 ต. ในเมือง ห่างจากแยกตลาดแค (เส้นทางตลาดแค-พิมาย) ประมาณ 9 กิโลเมตร ก่อนถึงโรงพยาบาลพิมาย จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าไปประมาณ 500 เมตร เป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรผลิตสินค้าแปรรูปจากเนื้อหมู เช่น ไส้กรอกอีสาน, หมูแผ่น, หมูหยอง, ลูกชิ้นหมู, หมูแดดเดียว รสชาติอร่อย สะอาด ได้รับรางวัลจากการประกวดผลงานส่งเสริมการเกษตรดีเด่น ระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2543 สนใจเข้าชมขั้นตอนการผลิต ติดต่อล่วงหน้าที่ นางจันทร์เพ็ญ อริยเดช ประธานกลุ่มแม่บ้านฯ โทร. 0 4428 5297

วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2553

จอมพล แปลก พิบูลสงคราม


ประวัติ
จอมพล แปลก พิบูลสงคราม เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๔๔๐ เวลาประมาณ ๐๗.๑๐ น. ณ บ้านแพปากคลองบางเขน อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี เป็นบุตรของนายขีดกับนางสำอาง ขีตตะสังคะ สมรสกับคนผู้หญิงละเอียด (พันธุ์กระวี)

เริ่มการศึกษาที่โรงเรียนกลาโหมอุทิศ วัดเขมาภิรตารามจังหวัดนนทบุรี ต่อมาได้เข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยทหารบกจนกระทั่งสำเร็จการศึกษาเมื่ออายุ ๑๙ ปี ได้รับยศร้อยตรี และประจำการที่กองพลที่ ๗ จังหวัดพิษณุโลก ต่อมาสามารถสอบเข้าโรงเรียนเสนาธิการได้เป็นที่ ๑ และได้ไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ประเทศฝรั่งเศส จนสำเร็จการศึกษา และกลับมารับราชการต่อไป

เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ พันตรี หลวงพิบูลสงคราม ได้เข้าร่วมกับคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเป็นกำลังสำคัญสายทหาร

ในปี พ.ศ.๒๔๗๗ ได้เลื่อนยศเป็นพันเอก และดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก

พันเอก หลวงพิบูลสงคราม เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๔๘๑ โดยการลงมติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และในช่วงที่ดำรงตำแหน่งก็ได้เลื่อนยศเป็นพลตรี จนกระทั่งในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๘๔ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลตรีหลวงพิบูลสงคราม เป็นจอมพล แปลก พิบูลสงคราม

ตลอดเวลาที่บริหารประเทศ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ได้สร้างผลงานเกี่ยวกับนโยบายสร้างชาติและการปลูกฝังความรู้สึกชาตินิยมให้แก่ประชาชนอย่างมากมาย เช่น การเปลี่ยนชื่อประเทศสยามมาเป็นประเทศไทย การเรียกร้องดินแดนทางด้านอินโดจีนคืนจากฝรั่งเศส การปลูกฝังความนิยมไทย และการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมไทยบางอย่าง เช่น การให้สตรีเลิกนุ่งโจงกระเบนแล้วหันมาสวมกระโปรงแทน การให้ประชาชนเลิกกินหมากพลู การตั้งชื่อผู้ชายให้มีลักษณะเข้มแข็ง ผู้หญิงให้แสดงถึงความอ่อนหวาน การส่งเสริมการศึกษาวิชาการแก่ประชาชน โดยเฉพาะได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยเฉพาะวิชา เช่น มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหิดล) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นต้น

เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกในประเทศไทย จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทย และในที่สุดได้ทำสัญญาพันธมิตรทางการทหารและเศรษฐกิจกับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผลให้ภายหลังเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ เสร็จสิ้นลง จอมพล แปลก พิบูลสงคราม จึงต้องตกเป็นผู้ต้องหาอาชญากรรมสงครามและถูกจับกุมคุมขังเป็นเวลาหลายเดือน

จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ได้บริหารประเทศมาถึง ๘ สมัย จนกระทั่งในวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นได้ทำการรัฐประหาร ทำให้คนต้องลี้ภัยการเมืองไปพำนักยังประเทศเขมรเป็นเวลา ๒ เดือน และย้ายไปพำนักอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อินเดียและได้กลับไปพำนักอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจวาย ณ บ้านพักที่ตำบลซากามิโอโน ชานกรุงโตเกียว เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๐๗ รวมอายุได้ ๖๗ ปี
ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง
สมัยที่ ๑
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๙ : ๑๖ ธันวาคม ๒๔๘๑ - ๖ มีนาคม ๒๔๘๕
สมัยที่ ๒
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๑๐ : ๗ มีนาคม ๒๔๘๕ - ๑ สิงหาคม ๒๔๘๗
สมัยที่ ๓
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๒๑ : ๘ เมษายน ๒๔๙๑ - ๒๔ มิถุนายน ๒๔๙๒
สมัยที่ ๔
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๒๒ : ๒๕ มิถุนายน ๒๔๙๒ - ๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๔
สมัยที่ ๕
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๒๓ : ๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๔ - ๖ ธันวาคม ๒๔๙๔
สมัยที่ ๖
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๒๔ : ๖ ธันวาคม ๒๔๙๔ - ๒๓ มีนาคม ๒๔๙๕
สมัยที่ ๗
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๒๕ : ๒๔ มีนาคม ๒๔๙๕ - ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐
สมัยที่ ๘
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๒๖ : ๒๑ มีนาคม ๒๕๐๐ - ๑๖ กันยายน ๑๕๐๐

วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ท้าวเทพกระษัตรี


ท้าวเทพกระษัตรี

ประวัติ

เมื่อ... ครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นผ่านพิภพเป็นปฐมบรมกษัตริย์ แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อปีขาล พ.ศ.2325 แล้วนั้นพระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระนครมาตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้เวลาสร้าง 3 ปีจึงแล้วเสร็จในปีมะเส็ง พ.ศ.2328 ในปีนั้นเอง พระเจ้าปดุงกษัตริย์พม่าได้ยกทัพใหญ่ 9 ทัพ มีรี้พลจำนวนรวมกันประมาณ 144,000 คน ยกเข้ามาทางทิศต่าง ๆ 5 ทิศทาง คือ ทางเชียงแสน 1 ทัพ ทางด่านแม่ละเมา 1 ทัพ ทางด่านเจดีย์สามองค์ 5 ทัพ ทางด่านบ้องตี้ 1 ทัพ และทางด้านกระบุรี อีก 1 ทัพ โดยกำหนดให้ยกมาตีเมืองไทยพร้อมกันในเดือนอ้าย ทัพพม่าที่ยกมาทางกระบุรี มีเกงหวุ่นแมงยีเป็นแม่ทัพ คุมรี้พลจำนวน 10,000 คน และเรือกำปั่นรบ จำนวน 15 ลำ มาประชุมทัพอยู่ที่เมืองมะริด แล้วแยกเคลื่อนทัพเป็นทางบก และทางเรือ ทางบก เกงหวุ่นแมงยีแม่ทัพ เป็นผู้คุมทัพเอง มีรี้พล จำนวน 7,000 คน ตีหัวเมืองปักษ์ใต้ฝั่งตะวันออก ตั้งแต่เมืองชุมพร ลงไปถึงเมืองสงขลา ทัพเรือให้ยี่หวุ่น คุมทัพ จำนวน 3,000 คน ตีหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตก ตั้งแต่ตะกั่วป่า จนไปถึงเมืองถลาง ซึ่งจากศึกด้านนี้เองทำให้เกิด 2 วีรสตรีคือ ท้าวเทพกระษัตรี และท้าวศรีสุนทร ผู้สร้างวีรกรรมที่เลื่องลือไปทั่ว แม้ชาวต่างชาติ ผู้สนใจรวบรวมเค้าเงื่อนประวัติศาสตร์ของเมืองถลาง ก็ได้เขียนกล่าวยกย่องสดุดีท่านทั้งสองไว้อย่างมากมาย
โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่ จะรู้จักท่านจากวีรกรรมในศึกครั้งนั้นเพียงด้านเดียว แต่ความเป็นจริงแล้ว ยังมีเกียรติประวัติ และวีรกรรมด้านอื่น ๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความรักชาติ ความเสียสละ กล้าหาญ ความเฉลียวฉลาด และรักเกียรติ ของท่านอีกมาก ซึ่งปรากฏในเอกสารหลักฐานต่าง ๆ หลายแง่มุม สมควรที่จะรวบรวมนำมาสดุดี เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึงคุณงามความดีของท่านที่ได้กระทำไว้ให้ลูกหลานชาวเมือง ถลาง และประเทศชาติสืบไป
ชาติตระกูล
ท้าวเทพกระษัตรี ( คุณหญิงจัน ) เกิดที่เมืองถลาง เป็นบุตร
พระยาถลางจอมร้าง (“จอม” หมายถึงยอดหรือหัวหน้า “ ร้าง” หมายถึง รั้งหรือครองตำแหน่ง ความหมายรวมก็คือ เจ้าเมืองถลางนั้นเอง ) ส่วนมารดาเป็นคนเชื้อแขกอิสลาม บุตรีเจ้าเมืองไทรบุรี ชื่อ หม่าเสี้ย ท่านมีพี่น้อง ร่วมสายโลหิต 5 คน เรียงตามลำดับคือ คุณหญิงจัน คนโต คุณมุก คนรอง คนที่สามชื่อ มา คนที่สี่และห้าเป็นชาย ชื่ออาด และเรือง ครอบครัวของท่านตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านเคียน ชี้ตำแหน่งในปัจจุบันคือบริเวณทิศเหนือของวัดพระนางสร้างฝั่งตรงข้ามคลองบางใหญ่
ชีวิตสมรส...
คุณหญิงจันสมรสกับ
หม่อมศรีภักดีภูธร บุตรจอมนายกอง ชาวนครศรีธรรมราช เจ้าเมืองตะกั่วทุ่ง กับ คุณชีบุญเกิด หม่อมศรีภักดีภูธรอยู่กินกับคุณหญิงจัน จนมีบุตรด้วยกัน 2 คน คนโตเป็นหญิงชื่อปราง คนสุดท้ายเป็นชาย ชื่อเทียน หลังจากนั้นไม่นาน หม่อมศรีภักดีภูธร ก็ถึงแก่กรรม คุณหญิงจัน อยู่เป็นหม้ายได้ 3 ปี จึงได้สมรสใหม่กับ พระยาพิมลขันธ์ และมีบุตรด้วยกัน 5 คน คนโตชื่อ คุณทอง (ต่อมาได้เป็นเจ้าจอมมารดา เจ้าครอกอุบลในรัชกาลที่ 1 ) คนที่ 2 ที่ 3 เป็นชายชื่อจุ้ย และเนียม คนที่สี่ และห้า เป็นหญิง ชื่อ กิม และ เมือง พระยาพิมลขันธ์ท่านนี้เดิมเป็น พระกระ เจ้าเมืองกระบุรีที่หนีศึกพม่ามาพึ่งเมืองนครศรีธรรมราช ครั้งปลายกรุงศรีอยุธยา* พระปลัดหนู ปลัดเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งว่าราชการเมือง แทนพระยาไชยาธิเบศร์ เจ้าเมืองนคร ที่ถูกเรียกตัวเข้าไปช่วยราชการศึกที่กรุงศรีอยุธยา ได้ส่งตัวไปช่วยราชการเมืองถลาง แทน หม่อมศรีภักดีภูธรที่เสียชีวิต จนได้สมรสกับคุณหญิงจันดังที่กล่าว
คุณหญิงจันกับเมืองถลาง...
เนื่องจากท่านทั้งสองเป็นเชื้อสายเจ้าเมืองทั้งฝ่ายบิดา และมารดา จึงได้รับการอบรมฝึกสอนให้มีจิตใจเข้มแข็งอดทน รู้หลักการปกครองผู้คน และราชการงานเมืองเป็นอย่างดีตั้งแต่เยาว์วัย จะเห็นได้จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ในยามวิกฤต ท่านก็สามารถนำพาบ้านเมือง รวมทั้งชีวิตครอบครัว ฝ่าฟันจนลุล่วงผ่านพ้นไปได้อย่างน่าอัศจรรย์
ท้าวเทพกระษัตรี เมื่อครั้งเป็น คุณหญิงจัน และเป็นหม้ายอยู่นั้น ท่านในฐานะบุตรีคนโต นอกจาก จะต้องรับผิดชอบงานบ้านงานเรือน และปกครองดูแลบ่าวไพร่แล้ว ยังต้องเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการ ช่วยเหลือ จอมร้าง บิดาปกครองบ้านเมือง เนื่องจากน้องชายทั้งสอง คือ คุณอาด และคุณเรือง ยังเป็นเด็กอยู่ ไม่สามารถช่วยงานราชการของบิดา ซึ่งอายุมากแล้วในขณะนั้นได้
แม้ต่อมาจะได้ พระยาพิมลขันธ์สามีใหม่ มาช่วยแบ่งเบางานราชการ และเป็นเพื่อนคู่ชีวิต ทำให้มีความสุขอยู่ได้ระยะหนึ่ง แต่ก็มีเหตุต้องบาดหมางใจกัน เนื่องจากปัญหาการสืบทายาท เจ้าเมืองถลาง เหตุการณ์นี้สืบเนื่องจากเมื่อสิ้นบุญ พระยาถลางจอมร้าง ก็เกิดปัญหาเรื่องมรดกเมืองถลาง ว่าใครจะได้สืบทายาทความเป็นเจ้าเมืองคนต่อไป พระยาพิมลขันธ์ สามีคุณหญิงจัน ซึ่งได้ช่วยราชการมานานแล้ว และสูง ด้วยวัยวุฒิ คุณวุฒิ และปัญญาวุฒิ สมควรแก่ตำแหน่งเจ้าเมือง ฝ่ายคุณอาด น้องชายคุณหญิงจัน ก็ถือว่าตัวเป็นทายาทโดยชอบธรรมที่จะครองตำแหน่ง ซึ่งยึดถือปฎิบัติกันมาแต่ครั้งก่อน จึงบาดหมางใจกัน จนมีเรื่องร้องเรียนไปถึงเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ส่วนคุณหญิงจัน ซึ่งเป็นคนกลาง ด้วยเป็นผู้ที่ยึดถือความถูกต้อง และรักเกียรติยิ่งชีวิต แม้จะรักในตัวสามีมากเพียงใด แต่ก็ไม่อาจที่จะสนับสนุน และยินยอมยกเมืองถลาง ตกแก่พระยาพิมลขันธ์ ให้เป็นที่ครหานินทาว่าหลงไหลสามี ยิ่งกว่าน้องร่วมสายโลหิต เหตุการณ์ครั้งนั้นคงจะสะเทือนใจ คุณหญิงจันเป็นที่สุด เพราะเป็นเหตุให้ถึงกับแยกทางกับสามี (มีหลักฐานตามบทความบางฉบับบอกว่าในขณะนั้น มีบุตรด้วยกันแล้วถึง 3 คน) พระยาพิมลขันธ์ เมื่อไม่ได้รับการสนับสนุนให้ขึ้นเป็นเจ้าเมือง จึงปลีกตัวไปอยู่กับ พระปลัดหนูที่เมืองนครศรีธรรมราชอีกครั้ง พระปลัดหนูซึ่งตั้งตัวเป็นเจ้าเมืองนครคนใหม่ในขณะนั้นจึงส่งตัวไปเป็นเจ้าเมืองพัทลุง ฝ่ายคุณหญิงจันพาลูก ๆ ไปอาศัยอยู่กับญาติหม่อมศรีภักดีภูธรสามีเก่า ที่เมืองตะกั่วทุ่งในฐานะสามัญชน
คุณหญิงจันกับการกู้ฐานะ...
ปลายกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ พ.ศ.2301 จนกระทั่งเสียกรุงครั้งที่ 2 ใน พ.ศ.2310 บ้านเมืองเกิดความระส่ำระสาย ข้าราชการและขุนนางเกิดความแตกแยกแบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่า เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมา ของพระมหากระษัตริย์ จาก
พระเจ้าอุทุมพร เป็นพระเจ้าเอกทัศน์ และกลับมาเป็น พระเจ้าอุทุมพร อีกครั้งเพื่อทำการสู้ศึกพม่าที่ยกมาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อเสร็จศึกก็กลับมาเป็น พระเจ้าเอกทัศน์อีกครั้ง ฝ่ายเมืองนครศรีธรรมราช ในระหว่างนั้น เจ้าพระยานคร พระยาไชยาธิเบศร์ ที่ถูกเรียกตัวเข้าไปช่วยราชการศึก ที่กรุงศรีอยุธยา ได้ถึงแก่อนิจกรรม พระปลัดหนู ปลัดเมืองนคร เห็นเป็นโอกาสเหมาะจึงตั้งตัวเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ไม่ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งพระยาตากได้รวบรวมรี้พลกอบกู้บ้านเมืองขับไล่พม่า ออกไปได้แล้ว เสด็จขึ้นปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินในกรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2311 และในปีต่อมา เสด็จมาตีเมืองนครศรีธรรมราชได้แล้ว โปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าหลานเธอ เจ้านรา สุริยวงศ์ ออกมาครองเมืองนครศรีธรรมราช ส่วนพระปลัดหนู เจ้าเมืองนคร ได้นำตัวมาไว้ที่กรุงธนบุรี เพื่อรับราชการตอบสนอง พระราชโองการ ลบล้างความผิด ฝ่ายพระยาพิมลขันธ์ สามีคุณหญิงจันเจ้าเมืองพัทลุง ก็ได้ถูกนำตัวมาด้วยในฐานะขุนนางเมืองบริวารของนครศรีธรรมราช ผู้จงรักภักดีต่อเจ้านคร คือ พระปลัดหนู ต่อมาพระปลัดหนูได้รับความดีความชอบจากการไปราชการศึกสงคราม พระยาพิมลขันธ์ก็พลอยได้รับความดีความชอบไปด้วย จนกระทั่งใน พ.ศ.2314 ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาพิมลขันธ์ ออกมากำกับดูแลการค้าขายแร่ดีบุกที่เมืองถลาง ด้วยเหตุนี้ พระยาพิมลขันธ์ จึงได้กลับมาใช้ชีวิตร่วมกับคุณหญิงจันอีกครั้ง ในช่วงนี้เองครอบครัว คุณหญิงจัน และสามีได้เปลี่ยนผันชีวิตเป็นพ่อค้าติดต่อค้าขายไปถึงเกาะปีนัง เพื่อกอบกู้ฐานะที่ตกต่ำ จนได้รู้จักสนิทสนมกับ นายเรือโทนอกประจำการ ของอังกฤษ ชื่อ กัปตัน ฟรานซิส ไลท์ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นนายพานิช สังกัด บริษัทอิสอินเดีย ของอังกฤษ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเบงกอลทางตอนใต้ของอินเดีย
กัปตันไลท์ได้เข้าไปขอพระบรมราชานุญาต ผูกขาดการซื้อแร่ดีบุกเมืองถลาง จากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และตั้งสำนักงานอยู่ที่บ้านท่าเรือ ซึ่งก็ได้รับพระบรมราชานุญาตตามความประสงค์ เนื่องจากทรงมีพระราชดำริอยู่แล้วที่จะฟื้นฟูประเทศหลังสงคราม
ระหว่างที่คุณหญิงจันและครอบครัว ทำการค้า
แร่ดีบุกอยู่เมืองถลางในฐานะสามัญชนอยู่นั้น คุณเทียน บุตรชายที่เกิดกับหม่อมศรีภักดีภูธร ได้ค้นพบแหล่งแร่ดีบุกขนาดใหญ่ในบริเวณท้องที่ ที่มีชื่อว่า บ้านสะปำ คุณหญิงจันและสามี เห็นว่าเป็นผลประโยชน์อย่างยิ่งแก่แผ่นดิน ซึ่งขณะนั้นกำลังสูญเสียทางเศรษฐกิจเพราะสงครามเป็นอย่างมากจึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลมายังกรุงธนบุรี เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงทราบความแล้ว ทรงมีพระทัยปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง จึงโปรดเกล้า ฯ พระราชทานให้คุณเทียนเลือกเอา บำเหน็จตามที่ต้องการ คุณหญิงจันเห็นช่องทางที่จะฟื้นฟูอำนาจการเมืองการปกครอง และฐานะกลับคืนมา จึงแนะนำคุณเทียนบุตรชาย ขอสิทธิ์ขาดการปกครองในบริเวณที่พบแหล่งแร่เป็นผลให้ทรงโปรดเกล้า ฯ ตั้งคุณเทียน เป็นเจ้าเมืองภูเก็ต มีราชทินนามว่า “ เมืองภูเก็ต ” ( เนื่องจากอายุไม่ครบ 31 ปี จึงไม่มีสิทธิได้รับ บรรดาศักดิ์ เป็นขุนหรือหลวง อันเป็นบรรดาศักดิ์ขุนนาง ตามประเพณีสมัยนั้น ) ฝ่ายคุณหญิงจันเมื่อบุตรชายได้รับพระราชทานความดีความชอบ ก็พลอยได้รับพระราชทานความดีความชอบตามไปด้วย โดยโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนเป็น ท่านผู้หญิง แต่ครั้งนั้น
ต่อมาใน พ.ศ. 2319 เจ้านราสุริยวงศ์ ผู้ครองนครศรีธรรมราชถึงแก่พิราลัย
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงดำริเห็นว่า พระปลัดหนู เจ้านครศรีธรรมราชเดิม ที่ถูกนำตัวไปไว้ ณ กรุงธนบุรี ได้ประพฤติปฏิบัติตนด้วยความจงรักภักดีตลอดมา อีกทั้งได้ถวายบุตรีคนหนึ่งเป็นข้าบาทบริจาริกา แสดงถึงความมั่นคงใน จิตใจพอที่จะไว้วางพระราชหฤทัยได้จึงโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นเจ้าประเทศราชครองเมืองนครศรีธรรมราช พระยาพิมลขันธ์ สามีท่านผู้หญิงจัน ผู้ซึ่งจงรักภักดีต่อพระปลัดหนู ก็ได้กลับมาเป็นเจ้าเมืองถลางในครั้งนั้นด้วย โดยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ตามตำแหน่งเจ้าเมืองถลางในครั้งนั้นว่า พระยาสุรินทราชา พระยาพิมลขันธ์ และโปรด ฯ ให้เจ้าพระยาอินทวงศาเป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝั่งตะวันตก ตั้งวังอยู่ที่ปากพระ เมืองตะกั่วทุ่ง

ท่านผู้หญิงจันกับการยึดครองเมืองถลางของอังกฤษ...
ระหว่าง พ.ศ. 2323 – 2328 ก่อนศึกสงครามเก้าทัพ 5 ปี อังกฤษได้เข้ามาครอบครองอินเดียไว้ได้ เป็นส่วนใหญ่ และมีนโยบายที่จะแผ่อิทธิพลออกมาทางคาบสมุทรอินโดจีน กับมีความประสงค์ที่จะหาที่ตั้ง ท่าจอดเรือรบ และท่าเรือสินค้าทางฝั่งตะวันออกของอ่าวเบงกอล ดินแดนที่หมายตาเอาไว้คือ เกาะปีนัง และเมืองถลาง ผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อแผนการในครั้งนั้นก็คือ กัปตัน ฟรานซิส ไลท์ ( มีหลักฐานแผนการนี้ อยู่ในจดหมายของ กัปตัน ไลท์ ถึง ลอร์ด คอร์วาลลิส ซึ่งปัจจุบันเก็บอยู่ใน บริติชมิวเซียม ประเทศอังกฤษ )
ความเกี่ยวข้องระหว่างท่านผู้หญิงจัน กับ กัปตัน ไลท์ นั้น สืบเนื่องมาจากการค้าขายดีบุก ซึ่งเป็นสินค้าหลักสำคัญของเมืองถลาง จนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้ผูกขาดเป็นของหลวง โดยให้ซื้อขายผ่านทางเจ้าเมืองถลาง กับตัวแทนในสังกัดของ กัปตัน ไลท์ โดยตรง กัปตัน ไลท์ ผู้นี้หลังสงครามเก้าทัพได้ไปขอเช่าเกาะปีนังจากเจ้าเมืองไทรบุรี ตั้งสำนักงานค้าขาย ต่อมาตั้งตัวเป็นเจ้าเมืองปีนัง โดยได้นำเครื่องราชบรรณาการมาทูลเกล้าถวายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนนางไทยว่า พระยาราชกัปตัน
จากความเกี่ยวข้องดังกล่าว ประกอบกับอุปนิสัย ของท่านผู้หญิงจัน และสามี ที่มีความโอบอ้อมอารี มีความจริงใจ และมีสัจจะ ทำให้กัปตัน ไลท์ ให้ความเคารพนับถือ รักใคร่ห่วงใย ทั้งยังเคยให้ความช่วยเหลือ และปรึกษาข้อราชการกันอยู่เนือง ๆ ดังปรากฎอยู่ในเนื้อความจดหมายของท่านผู้หญิงจัน ที่มีไปถึง กัปตันไลท์ที่เกาะปีนัง เพื่อแสดงความขอบคุณในความเป็นห่วงท่านกับครอบครัวหลังศึกสงครามเก้าทัพ และขอให้ช่วยจัดซื้อข้าวมายังเมืองถลาง จดหมายลงวัน พฤหัส เดือนสิบเอ็ด ปีมะเมีย อัฐศก ( 29 มีนาคม 2329 ) มีใจความดังนี้
“ หนังสือท่านผู้หญิง จำเมริน มายังท่านพญาราชกัปตันเหล็ก ให้แจ้ง ด้วยมีหนังสือฝากให้แก่ นายเรือตะหน้าวถือมาเถิง เป็นใจความว่า เมื่อท่านอยู่ ณ เมืองมังลา รู้ข่าวไปว่าพม่ายกมาตีเมืองถลาง จะได้เมืองประการใด แลตูข้าลูกหลานทั้งปวง จะได้ไปด้วยหรือประการใดมิแจ้ง ต่อท่านมาถึงเมืองไซ รู้ไปว่าเมืองถลางไม่เสียแก่พม่า แลตูข้าลูกเต้าทั้งปวงอยู่ดีกินดี ค่อยวางใจลง ในหนังสือมีเนื้อความเป็นหลายประการนั้น ขอบใจเป็นหนักหนา……….
……….. แลตูข้าได้แต่งนายแช่มจินเสมียนอิ่ว คุมเอาดีบุกไปถึงท่านให้ช่วยจัดซื้อข้าวให้ อนึ่งถ้าข้าวสาร ณ เกาะปุเหล้าปีนังขัดสน ขอท่านได้ช่วยแต่งให้ผู้หนึ่งผู้ใดไปช่วยจัดซื้อข้าว ณ เมืองไซ ถ้าได้ข้าวแล้วนั้น ขอท่านได้ช่วยแต่งสุหลุปกำปั่นเอามาส่งให้ทัน ณ เดือนสิบเอ็ด ………..”
ความเคารพนับถือในตัวท่านผู้หญิงจันของ กัปตัน ไลท์ ยังเผื่อแผ่ความรักความปราถนาดีไปถึง คุณเทียน ( เมืองภูเก็ต ) เจ้าเมืองภูเก็ต บุตรของท่านผู้หญิงจัน ที่ต่อมาได้เป็น พระยาเพชรคีรีศรีสงคราม เจ้าเมืองถลาง และผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝั่งตะวันตก ดังมีข้อความปรากฎในจดหมายของพระยาเพชรคีรีศรีสงคราม มีไปถึงกัปตันไลท์ เพื่อแสดงความขอบคุณที่เป็นห่วงด้วยเกรงพวกแขกโจรสลัด และพวกไทรบุรี จะยกมาปล้นเมืองถลาง ดังมีข้อความต่อไปนี้
“ หนังสือท่านพระยาเพชรคีรีศรีสงคราม เจ้าพระยาถลาง บอกมายังท่านพระยาราชกัปตัน ผู้เป็นเจ้าเมืองเกาะปุเหล้าปีนัง ด้วยสลิบกอริกมาบอกว่า ท่านพญาราชกัปตัน สั่งมาว่า แขกเสกหะลีเหล่าร้าย ซึ่งเป็นโจร พ้นเกาะปุเหล้าปีนังมาเข้า ณ ปากน้ำเมืองไทร แล้วว่าพระยาไทรเป็นใจคิดอ่านเข้าด้วยกันกับแขกเหล่าร้ายจักคิดอ่านตีแห่งใดยังมิรู้ และอย่าให้ข้าพเจ้าไว้ใจแก่ราชการให้ตระเตรียมอยู่นั้น เป็นพระคุณของท่าน ซึ่งบอกมาให้รู้ตัวนั้นเป็นหนักหนาอยู่แล้ว………………. ”
ในปี 2328 ก่อนสงครามเก้าทัพไม่นาน แผนการยึดครองเมืองถลาง และเมืองปีนัง ของอังกฤษ ถูกยกเลิก โดย เซอร์ เจมส์ แมคเฟอสัน ข้าหลวงใหญ่อังกฤษ เปลี่ยนใจมาขอเช่าเฉพาะเกาะปีนัง โดยเว้นไม่เอาเมืองถลาง เนื่องจากรัฐบาลอังกฤษประสงค์ที่จะได้ท่าเรือรบ และท่าเรือสินค้าเพียงอย่างเดียว ไม่ประสงค์ที่จะยึดครองเป็นอาณานิคม อีกประการหนึ่ง อังกฤษคงเห็นว่าการปกครองชาวถลาง และการป้องกันรักษาเมืองนั้นยาก จำเป็นต้องใช้กำลังทหารมากถึงจะกำหราบอยู่ เนื่องจากชาวเมืองถลาง เป็นผู้รักความอิสระไม่ชอบให้คนต่างเชื้อชาติ ต่างเผ่าพันธ์ มาเป็นผู้ปกครองตน ซึ่งจะเห็นได้ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา สมัยพระนารายณ์มหาราช เป็นต้นมา ถลางถูกปกครองโดยคนฝรั่งเศส คนจีน และแขกไทรบุรี แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน ชาวเมืองต่างลุกฮือขึ้นต่อต้านทุกคราวไป
อย่างไรก็ตามสาเหตุประการหนึ่งที่ส่งผลให้อังกฤษไม่เอาเมืองถลาง ที่ไม่อาจจะละเลยไปได้ก็คือ การที่กัปตันไลท์ ต้นคิดแผนการยึดครองให้ความเคารพนับถือในตัวท่านผู้หญิงจัน จนไม่อาจทำสิ่งใดเป็นการหักหาญ ทำลายมิตรภาพลงได้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นบุญคุณอันยิ่งใหญ่ ของท่านผู้หญิง เมืองถลางจึงยังคงเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทยจนถึงทุกวันนี้
ท่านผู้จันกับห้วงวิกฤตในชีวิต...
หลังหมดยุด
กรุงธนบุรี สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อ พ.ศ. 2325 แล้ว พระองค์ได้ทรงปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทั้งภายในพระนครและหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อความเหมาะสมจนถึง พ.ศ. 2327 ทรงเห็นว่าหัวเมืองฝ่ายใต้ ได้แก่ เมืองนครศรีธรรมราช และเมืองบริวารหลายเมือง ไม่เต็มใจถวายความจงรักภักดีตามควรแก่เหตุการณ์ จึงโปรดให้พระยาธรรมไตรโลก เชิญสารตราตั้งออกมาแต่งตั้ง เจ้าอุปราช ( พัฒน์ ) ผู้เป็นบุตรเขยเจ้านครศรีธรรมราช ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองนครฯ แต่ให้มียศเพียงเจ้าพระยาตามประเพณีเมื่อครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีส่วนเจ้านคร ( หนู ) ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าประเทศราช แต่ครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น ทรงโปรดให้ถอดออกเสียจากตำแหน่ง และให้กลับเข้าไปอยู่ที่กรุงเทพ พระยาธรรมไตรโลก เมื่อได้จัดการมอบเมืองนครศรีธรรมราชให้แก่ เจ้าพระยานคร ฯ คนใหม่แล้วก็เดินทางมายังตะกั่วทุ่ง เพื่อถอดถอนเจ้าพระยาอินทวงศา ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝั่งตะวันตก และดูแลเร่งรัดภาษีดีบุก ของเมืองถลาง และเมืองต่าง ๆ ทางหัวเมือง ฝ่ายเจ้าพระยาอินทวงศา ซึ่งเป็นขุนนางผู้ใหญ่ ชั้นอัครมหาเสนาบดี เมื่อครั้งราชวงศ์ก่อน ไม่ยอมรับอำนาจทางเมืองหลวงจึงเลือกกระทำอัตนิวิบาตกรรม ฝ่ายพระยาสุรินทราชา พระยาพิมลขันธ์ เจ้าเมืองถลาง สามีท่านผู้หญิงจัน ผู้ซึ่งมีความจงรักภักดีต่อสมเด็จ พระเจ้าตากสินมหาราช อาจจะเห็นว่า เจ้านคร ( หนู ) เจ้านายผู้มีบุญคุณเคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาแต่เดิมถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งโดยไม่เป็นธรรม รวมทั้งมีข้อพิพาทกับพระยาธรรมไตรโลก เรื่องเงินภาษีอากรที่ค้างส่งให้ทางเมืองหลวง จึงยากที่จะทำใจยอมรับอำนาจใหม่ในทันทีทันใด จึงตัดสินใจกระทำอัตนิวิบาตกรรม เช่นเดียวกับเจ้าพระยาอินทวงศา เพื่อมิให้ได้ชื่อว่าเป็น ข้าสองเจ้าบ่าวสองนาย แต่ก็ไม่สิ้นใจในทันที เป็นแต่นอนเจ็บหนักอยู่ พระยาธรรมไตรโลก จึงแต่งตั้งพระยาทุกราช( ทองพูน ) ปลัดเมืองถลางขึ้นเป็นผู้ว่าราชการเมืองแทน พระยาทุกราช ( ทองพูน) ผู้นี้เป็นลูกพี่ลูกน้องกับท่านผู้หญิงจัน เมื่อครั้งพระยาพิมลขันธ์ ได้ขึ้นเป็น เจ้าเมืองถลาง เมื่อ พ.ศ. 2319 คุณทองพูนก็ได้รับการแต่งตั้งเป็น พระยาทุกราช ปลัดเมืองถลาง ในครั้งนั้นด้วย
ท่านผู้หญิงจันภายใต้สภาพปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองจนเป็นเหตุให้สามีเจ็บหนัก ตัวท่านเองก็ล่อแหลมที่จะต้องตกอยู่ในข่ายผู้ถูกเพ่งเล็งไม่รู้ว่าอนาคตผลจะออกมาดีร้ายประการใด ถึงกระนั้นก็ตามด้วยที่เห็นแก่บ้านเมืองและความถูกต้อง ท่านก็มิได้ย่อท้อ และมีสติตั้งมั่นยืนหยัดสู้กับปัญหาที่เข้ามาอย่างไม่สะทกสะท้าน ในระหว่างนั้นเองกัปตันไลท์ มาแจ้งข่าวว่าพม่ากำลังเตรียมยกทัพเข้ามาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ และขอจัดการเรื่องหนี้สินที่ค้างเกินกันอยู่ ท่านผู้หญิงจันเป็นห่วงบ้านเมืองขอร้อง กัปตันไลท์ ให้อยู่ช่วยรบพม่า แต่กัปตันไลท์คงเห็นว่าโอกาสที่จะชนะคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากตนเองได้ทราบข่าวแน่นอนแล้วว่า การศึกคราวนี้พม่ามีการจัดเตรียมรี้พล และสะสมเสบียงเป็นจำนวนมาก ประกอบกับความขัดแย้ง ระหว่างเมืองถลาง กับ ทหารกรุง ในขณะนั้น คงจะไม่มีหัวเมืองใด ๆ ที่จะมาช่วยไ ด้ จึงปฎิเสธให้ความช่วยเหลือ ท่านผู้หญิงจัน และรีบเร่งออกเรือสินค้าถอยออกจากเมืองถลางหนีทัพพม่าไปเมืองบังคลาเทศ ต่อมาไม่นานก่อนพม่ายกมาตีเมืองถลาง ประมาณหนึ่งเดือน พระยาถลาง ได้ถึงแก่กรรมลง งานฌาปนกิจยังไม่แล้วเสร็จ ท่านผู้หญิงจันก็ถูก พระยาธรรมไตรโลกคุมตัวไปที่ด่านปากพระ เมืองตะกั่วทุ่ง เพื่อเป็นตัวประกันเงินภาษีอากร ที่สามีผู้ถึงแก่กรรมติดค้างอยู่ จนเมื่อพม่าเข้าโจมตีค่ายปากพระ ท่านผู้หญิงจัน จึงได้ถือโอกาสหลบหนีกลับเข้ามาเมืองถลาง เพื่อเตรียมการ สู้ศึก ซึ่งคาดว่าคงจะมาถึงเมืองถลางในไม่ช้า
ท่านผู้หญิงจัน...
เมื่อท่านผู้หญิงจัน กลับมาถึงเมืองถลาง ปรากฎว่าบ้านช่องถูกทอดทิ้ง เพราะคนเฝ้ากลัวพม่า พากันหนีเข้าป่าไปหมดสิ้น ทรัพย์สมบัติก็ถูกผู้คนขโมยไปไม่มีเหลือ จึงต้องป่าวร้องเกลี้ยกล่อมผู้คนให้ ร่วมมือกันต่อสู้ ชาวบ้านเมื่อรู้ข่าวต่างก็พากันออกจากป่า รวมตัวกันเตรียมสู้ศึก หลังจาก ยี่หวุ่นนายกองพม่า คุมพล จำนวน 3,000 คน ตีเมืองตะกั่วทุ่งได้แล้ว จึงยกทัพต่อมายังเมืองถลาง ท่านผู้หญิงจันรู้ข่าวจึงได้ประชุมกรมการเมือง และนายทัพนายกองทั้งหลาย มีความเห็นฟ้องกันว่าทัพเรือพม่าจะต้องมาขึ้นบก ที่ท่าตะเภา เนื่องจากเป็นท่าเรือใหญ่ และใกล้เมืองถลางมากที่สุด และคงจะเข้าตีเมืองทางด้านหน้า เพราะด้านหลังเป็นที่กันดารยากแก่การเดินทัพ จึงได้ประกาศให้ราษฎรแถบท่าตะเภา ตลอดจนถึงบ้านดอนให้อพยพเข้ามาอยู่ในค่ายใหญ่ที่บ้านเคียน แล้วตั้งค่ายขึ้น 2 ค่าย** ค่ายหนึ่งตั้งอยู่ที่ นบนางตัก มีพระยาทุกราช ( ทองพูน ) ผู้ว่าราชการเมืองถลาง เป็นนายกอง คุมพลหลายร้อยคน มีปืนใหญ่ชื่อ “ พระพิรุณสังหาร ” ประจำค่าย อีกค่ายหนึ่งตั้งอยู่บ้านค่าย มีนายอาจ เป็นนายกอง มีปืนใหญ่ชื่อ “ แม่นางกลางเมือง ” ประจำค่าย หลังจากนั้นได้แบ่งกองยกออกขัดตาทัพตามจุดที่คาดว่าพม่าจะเข้ามา และตั้งกองสอดแนมลาดตระเวนหาข่าวข้าศึก ส่วนท่านผู้หญิงจันซึ่งเป็นผู้บัญชาการรบ และคุณมุกน้องสาว ผู้ช่วยนั้นหมั่นคอยตรวจตราดูแลความพร้อมอยู่ตลอดเวลา
เมื่อกองทัพพม่ายกมาถึงช่องแคบก็เข้ามาจอดที่ท่าตะเภา ทันทีที่พม่ายกพลขึ้นฝั่ง นักรบถลางก็ยกออกโจมตีทันที เป็นการหยั่งกำลังข้าศึก เสร็จแล้วพากันถอยไปตั้งอยู่ในค่าย พม่าเห็นทหารถลาง ล่าถอย จึงยกพลขึ้นตั้งค่ายใหญ่ ริมทะเล ที่ปากช่องค่าย เสร็จแล้วยกขึ้นมาตั้งค่ายอีก 2 ค่าย บริเวณที่ในปัจจุบันเรียกว่า นาโคกพม่า 1 ค่าย และที่บ้านนาถลาง 1 ค่าย แล้วชักปีกกาเข้าหากัน เผชิญหน้ากับค่ายของเมืองถลาง โดยมีคลองบางใหญ่ขวางอยู่ด้านหน้า เมื่อพม่ายกกองทัพเดินขบวนขยายปีกกาจะเข้าตีค่าย หรือข้ามน้ำมาทางค่ายไทยก็จะยิงตรึงด้วยปืนมณฑกสับคาบศิลา สลับกับปืนใหญ่เป็นห่าฝน ทำให้พม่าต้องแตกกระจายถอยหนีทุกครั้งไป จนขยาดไม่กล้ายกออกจากค่ายมาโจมตี ฝ่ายกองทัพเมืองถลาง เนื่องจากมีกำลังน้อยจึงไม่สามารถยกออกโจมตีพม่าให้แตกหักโดยซึ่งหน้าได้ ครั้นจะตั้งรับอย่างเดียว ก็เกรงว่าอาจจะเสียทีข้าศึกได้ จะรอให้กองทัพจากกรุงมาช่วยก็ไม่มีข่าวประการใด ท่านผู้หญิงจัน และคุณมุกรู้ข่าวว่า พม่ากำลังขาดแคลนเสบียงอาหาร จึงปรึกษากับกรมการเมืองออกอุบายคัดเลือกผู้หญิงอายุกลางคนประมาณ 500 เศษ แต่งกายเป็นทหารชายเอาทางมะพร้าวมามาตกแต่งถือต่างอาวุธปืนเพื่อลวงพม่า เมื่อจัดแจงเสร็จแล้ว ท่านผู้หญิงจันและคุณมุก ก็แต่งตัวอย่างแม่ทัพ ถือดาบขึ้นคานหาม จัดขบวนทัพสลับ ผู้ชายกับผู้หญิง เพื่อให้ดูว่ามีรี้พลมากแล้วยกออกจากค่าย ทำทีว่าจะเข้าตีค่ายพม่า ฝ่ายพม่าเห็นอย่างนั้นก็ยกพลออกจากค่ายมาจัดขบวนทัพเตรียมรับศึก ท่านผู้หญิงจันเห็นเช่นนั้น ก็สั่งให้ยิงปืนใหญ่พระพิรุณสังหาร ไปยังขบวนทัพพม่าจนแตกกระจัดกระจายบาดเจ็บล้มตายไม่น้อย ที่เหลือก็หนีกลับเข้าค่าย ครั้นเวลาค่ำ ท่านผู้หญิงจัน และคุณมุก ็พาพวกผู้หญิงกับผู้ชายที่มีอายุออกมานอกค่ายเข้าที่ซุ่มซ่อน รุ่งขึ้นท่านก็ยกขบวนกลับเข้าค่ายทำอย่างนี้ทุก ๆ วัน ตลอดเวลา 3 – 4 วัน จุดประสงค์เพื่อลวงพม่าให้เข้าใจว่าฝ่ายไทยมีไพร่พลมากจะได้ไม่กล้าโจมตี และหน่วงทัพพม่าไว้ให้ขาดเสบียงอาหาร จนเมื่อเห็นว่าระส่ำระสายแล้วจึงจะยกทัพเข้าตีให้แตกหัก
ทหารพม่าล้อมเมืองถลางอยู่ได้ประมาณเดือนเศษ ก็ยังไม่สามารถจะตีเอาเมืองได้เสบียงอาหารก็เริ่มขาดแคลน ซ้ำยังถูกฝ่ายไทยระดมยิงด้วยปืนใหญ่น้อยทุกวัน ยิ่งได้ข่าวว่า กองทัพพม่าทางด้านเมืองกาญจนบุรี ถูกทัพหลวงไทยตีแตกพ่ายไปแล้ว จึงเกิดความระส่ำระสายขึ้น ท่านผู้หญิงจันเห็นได้ทีจึงสั่งโจมตีจนทัพพม่าแตกพ่ายลงเรือหนีตายแล่นออกนอกอ่าวไป
เสร็จศึกพม่าเมื่อวันจันทร์ ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเส็ง จุลศักราช 1147 ซึ่งตรงกับวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2328 แล้ว กรมการเมืองถลางก็มีใบบอก เพื่อกราบทูลพระกรุณาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ตามความในพงศาวดาร
กรุงรัตนโกสินทร์ว่า
“ฝ่ายกรมการเมืองถลาง ครั้นพม่าเลิกกลับไปแล้ว ได้ข่าวว่าทัพหลวง สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จพระราชดำเนินออกมาตีทัพพม่าทางบกแตกไปสิ้นแล้ว จึงบอกข้อราชการมากราบทูลพระกรุณา ขณะเมื่อทัพหลวงยังเสด็จอยู่ที่เมืองสงขลาฉบับ 1 บอกเข้ามากราบทูลพระกรุณา ณ กรุงเทพมหานคร ฉบับหนึ่ง และขณะที่สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จกลับ ถึงพระนครแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชโองการโปรดให้ มีตราออกไปยังเมืองถลาง ตั้งกรมการผู้มีความชอบในการสงคราม เป็นพระยาถลางขึ้นใหม่แล้วโปรด ฯ ตั้งจันทร์ภรรยาพระยาถลางเก่า ซึ่งออกต่อสู้รบพม่านั้นเป็น ท้าวเทพสตรี โปรดตั้งมุกน้องหญิงเป็น ท้าวศรีสุนทร พระราชทานเครื่องยศโดยควรแก่อิสตรีทั้ง 2 คน ตามควรแก่ความชอบในสงครามนั้น…………….. ”
ท้าวเทพกระษัตรีหลังศึกถลาง...
ครั้นเสร็จศึกเมืองถลาง เกิดเรื่องบาดหมางไม่ลงรอยกันในเครือญาติของท่านผู้หญิงจัน กรณีผู้ที่จะมาเป็นเจ้าเมืองถลาง ท่านผู้หญิงจัน แม้ว่าจะมีความสามารถในการปกครองผู้คน และมีความดีความชอบสูงสุดในการรวบรวมผู้คน และบัญชาการรบ ด้วยยุทธวิธีที่เป็นเลิศ จนสามารถขับไล่พม่าพ้นไปจากเมืองถลางได้ แต่ก็ไม่สามารถขึ้นเป็นเจ้าเมืองได้ เนื่องจากเป็นสตรีเพศ ซึ่งไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ของชาติว่ามีการ ยกย่องสตรีให้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองมาแต่ก่อน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดเกล้า ฯ ให้เป็น ท้าวเทพกระษัตรี ซึ่งก็นับว่าเป็นเกียรติยศสูงส่งอันหาได้ยาก เช่นกัน
ฝ่ายเมืองภูเก็ต ( เทียน ) เจ้าเมืองภูเก็ต บุตรชาย คิดว่าตนเองควรที่จะได้รับโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งขึ้นเป็นเจ้าเมืองแทนสิทธิ์ของแม่ แต่เนื่องจากอายุยังน้อยอยู่ และยังมีญาติผู้ใหญ่คือ พระยาทุกราช ( ทองพูน ) ผู้ว่าราชการเมืองถลาง ซึ่งมีศักดิ์เป็น ลุง และได้ประกอบความดีความชอบในสงครามครั้งนั้นด้วย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงมีพระราชดำริว่ายังไม่เหมาะที่จะขึ้นเป็นเจ้าเมืองได้ใน ขณะนั้น จึงโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนยศและบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น พระยาทุกราช ( เทียน ) และเป็นเจ้าเมืองภูเก็ต ตามเดิม กับให้กินตำแหน่งปลัดเมืองถลางควบคู่ไปด้วย แต่ก็ได้รับคำมั่นสัญญาจาก สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ว่าจะให้กินตำแหน่งพระยาถลาง เมื่อถึงกาลที่ทรงเห็นว่าเหมาะสม ด้วยเหตุผลดังกล่าว พระยาทุกราช ( ทองพูน ) จึงได้รับโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองถลาง ได้รับพระราชทาน เจียดทองและตราตั้งเป็นทางราชการมีราชทินนามว่า พระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงครามนิคมคามบริรักษ์ ฯ
เมื่อเหตุการณ์เป็นดังนั้น ท้าวเทพกระษัตรี จึงไม่อยากเห็นการทะเลาะวิวาทจนกลายเป็นศึกสายเลือดซ้ำสอง เหมือนเมื่อครั้งที่เคยเกิดขึ้นคราวสิ้นบุญจอมร้างจึงได้ชวน ท้าวศรีสุนทร กับ พระยาทุกราช ( เทียน ) พากันมาตั้งหลักทำดีบุกอยู่ที่บ้านสะปำ เขตเมืองภูเก็ต บ้านเมืองหลังสงครามมีความเสียหาย และขัดสนด้วยข้าวสารที่จะนำมาบริโภค จึงจำเป็นต้องรีบเร่งแก้ไขเป็นการด่วน ท้าวเทพกระษัตรีเมื่อเห็นความทุกข์ยากของชาวเมืองก็อดที่จะช่วยเหลือไม่ได้ ทั้งที่ตัวท่านเองขณะนั้นก็ไม่มีอำนาจการปกครองใด ๆ และตกระกำลำบากอยู่เช่นเดียวกัน ทั้งปัญหาความขัดแย้งระหว่างลูกกับเจ้าเมืองถลาง ปัญหาหนี้สินภาษีอากรของสามีที่ติดค้างกับเมืองหลวง และหนี้สินที่ค้างเกินกันอยู่กับพระยาราชกัปตัน ที่ต้องรับผิดชอบดิ้นรนหามาใช้คืน แต่ด้วยความสงสารประชาชน และด้วยจิตวิญญานของความเป็นแม่เมืองถลาง จึงพยายามติดต่อหาซื้อข้าวสารให้ชาวเมืองได้บริโภค ประทังความอดอยากยากแค้น ดังปรากฎในจดหมายของท่านที่มีไปถึง พระยาราชกัปตัน ตามที่ได้กล่าว ไปแล้ว
นอกจากความรับผิดชอบที่ต้องทำนุบำรุงบ้านเมือง และความเป็นอยู่ของชาวเมืองทั้งหลายให้มีความอยู่ดีกินดีทั่วกันแล้ว ในฐานะความเป็นแม่ของลูก ท่านยังต้องจัดแจงส่งเสริมให้ลูกมีความเจริญก้าวหน้า สมควรตามหน้าที่ จากที่ได้กล่าวมาแล้ว พระยาทุกราช ( เทียน ) เจ้าเมืองภูเก็ต บุตรของท่านผู้นี้มีความประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะขึ้นเป็นเจ้าเมืองถลาง ท้าวเทพกระษัตรี จึงต้องเข้าทางเมืองหลวง เพื่อหาช่องทางให้ได้ตามความต้องการ การเดินทางเข้าเมืองกรุงเทพ ฯ ในครั้งนั้นจะไปแต่ตัวเปล่าก็ไม่เหมาะ จำต้องมีเครื่องบรรณาการ ไปถวายให้สมพระเกียรติ โดยเฉพาะอาวุธปืน ซึ่งจำเป็นต่อการป้องกันบ้านเมือง และจัดหาได้ยากในขณะนั้น ตัวท่านเองก็ขัดสนด้วยเงินทอง แต่ด้วยความรักและเมตตาต่อบุตรจึงเป็นธุระจัดการให้จนพระยาทุกราช( เทียน ) ได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองถลาง สมความปราถนาทุกประการ ดังปรากฏในจดหมายของท่านที่มีไปถึงพระยาราชกัปตัน ที่เกาะปีนัง เมื่อแจ้งกำหนดการเดินทางเข้าเมืองกรุง และขอให้ช่วยจัดส่งอาวุธปืน และสิ่งของต่างๆ ที่จะนำไปถวายเป็นเครื่องบรรณาการ หนังสือลง วันพุธ เดือนแปด แรมสี่ค่ำ ปีมะแม นพศก ฯ ความดังนี้
หนังสือข้าพเจ้าท่านผู้หญิง ปราณีบัติมายังโตกพญาท่านด้วย ณ เดือนแปดข้างแรมนี้ ข้าพเจ้าจะเข้าไปกรุงแน่ แต่จะมาทางตรัง ถ้าข้าพเจ้ามาถึง เกาะตะลิโบงแล้วจะให้พระยาทุกราช กับพ่อจุยมากราบเท้าพญานายท่าน จะขอพึ่งชื่อของท่านสักสามสิบสี่ภารา จะได้เอาไปแก้ไข ณ กรุง ให้พ้นกรมการเมืองถลางเบียดเสียดว่ากล่าว……………………
และให้โตกพญานายท่านจัดปืนสะตัน สัก 50 บอก ผ้าขาวก้านแย้งลายเครือ ผ้าขาวอุเหมาเนื้อดี แพรดาไหรสีต่างกัน น้ำมันจัน น้ำกุหลาบ และของต้องการใน……………………”
ท้าวเทพกระษัตรี ได้อยู่ช่วยราชการ พระยาถลางบุตรชาย จนอายุล่วงเลยเข้าชราภาพ ก็ถึงแก่กรรม ณ เมืองถลางนั้นเอง ส่วนท้าวศรีสุนทร ตามข้อเขียนของผู้สืบสกุลเมืองถลาง
ขุนนรภัยพิจารณ์ ( ไวย ณ ถลาง ) บอกว่าได้เข้าไปอยู่กรุงเทพ กับ พระปลัด ( อาจ ) ผู้เป็นสามี ครั้งนำตัวคุณทอง บุตรีท้าวเทพกระษัตรีไปถวายตัวเป็นข้าราชบริพาร ในรัชกาลที่ 1 ณ กรุงเทพ ฯ และไม่ได้กลับมาเมืองถลางอีกเลยจนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรม
งานท้าวเทพกษัตรี-ท้าวศรีสุนทร
ตรงกับวันที่ 13 มีนาคมของทุกปี มีการจัดงานเฉลิมฉลอง มีกิจกรรมต่างๆ มากมาย เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ที่สองวีรสตรีสามารถปกป้องเมืองถลาง ให้รอดพันจากข้าศึกพม่าและสดุดีในวีรกรรมของท่าน

พระยาพิชัยดาบหัก


พระยาพิชัยดาบหัก
ประวัติ พระยาพิชัยดาบหัก เดิมชื่อ “จ้อย” เกิดที่บ้านห้วยคา หลังเมืองพิชัยไปทางทิศ ตะวันออกประมาณ 100 เส้นเศษ (ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวจังหวัดอุตรดิตถ์ได้จัดสร้างเป็นโครงการบ้านเกิดพระยาพิชัยดาบหัก) บิดาและมารดามีอาชีพทำนา โดยมีบุตรด้วยกัน 4 คน แต่เป็นไข้ทรพิษตายในคราวเดียวกันถึง 3 ราย จึงเหลือจ้อยคนเดียว เมื่อจ้อยอายุได้ 8 ขวบ บิดาได้นำไปฝากไว้กับท่านพระครูวัดมหาธาตุในเมืองพิชัยเพื่อให้เรียนหนังสือ จนจ้อยอายุย่างเข้า 14 ปี ก็สามารถอ่านออกเขียนได้เป็นอย่างดี ในขณะอยู่ที่วัดมหาธาตุนั้นจ้อยชอบดูการชกมวยมาก และเมื่อมีเรื่องชกต่อยกับเด็กวัดด้วยกันจ้อยก็สมารถเอาชนะได้ทุกคน ต่อมาเจ้าเมืองพิชัยได้นำบุตรชายชื่อเจิดกับเด็กรับใช้อีก 3 คน มาฝากเรียนหนังสือกับท่านพระครู อยู่มาวันหนึ่งเจิดและ ลูกน้องได้เกิดการทะเลาะวิวาทชกต่อยกับจ้อย จ้อยเกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมเนื่องจากเจิดเป็นบุตรชายของเจ้าเมือง จึงได้หนีไปโดยตั้งใจว่าจะไปบ้านท่าเสาเพื่อที่จะไปฝึกหัดชกมวยที่นั่นด้วย แต่ระหว่างที่เดินทางถึงวัดบ้านแก่งได้เห็นครูเที่ยงกำลังสอนมวยอยู่จึงสมัครเข้าเป็นศิษย์ และเพื่อไม่ให้คนจำได้ จึงเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ว่า “ทองดี” เนื่องจากทองดีไม่เคี้ยวหมากเหมือนคนทั่วไปในสมัยนั้น จึงมักถูกเรียกว่า “นายทองดีฟันขาว” นายทองดีฝึกมวยอยู่กับครูเที่ยงด้วยความตั้งใจจนมีฝีมือเป็นเลิศกว่าลูกศิษย์คนอื่นและได้ปรนนิบัติดูแลรับใช้ครูเป็นอย่างดีสม่ำเสมอ กระทั่งอยู่ต่อมาศิษย์รุ่นเก่าของครูเที่ยง 4 คน เกิดอิจฉาที่นายทองดีเป็นศิษย์รักของครู จนเกิดเรื่องชกต่อยกัน นายทองดีเห็นว่าอยู่ต่อไปก็ไม่มีความสุข จึงขอลาครูเที่ยงเดินทางติดตามพระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งจะไปนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ โดยนายทองดีได้ไปพักที่วัดบางเตาหม้อ ไม่นานก็ลาพระภิกษุรูปนั้นไปหาครูมวยที่ท่าเสาชื่อ “ครูเมฆ” เพื่อขอเป็นศิษย์ฝึกหัดวิชามวยตามที่ตั้งใจไว้แต่ตอนแรก ในระหว่างนั้นขณะที่นายทองดีอายุได้ 18 ปี ได้แสดงความสามารถโดยการติดตามผู้ร้ายที่เข้ามาลักขโมยควายของครูเมฆจนได้ควายกลับคืนมา และได้ฆ่าคนร้ายตาย 1 คน จับคนร้ายได้อีก 1 คน นายทองดีจึงได้รับการชมเชย และ ได้รับบำเหน็จรางวัลจากกรมการตำบลบางโพท่าอิฐสำหรับความสามารถและคุณงามความดี ในครั้งนั้นถึง 5 ตำลึง นายทองดีได้มีโอกาสแสดงฝีมืออีกครั้งหนึ่งด้วยการชกมวยในงานนมัสการ พระแท่นศิลาอาสน์ โดยชกชนะนายถึกซึ่งเป็นศิษย์มวยของครูนิล และยังได้ชกชนะครูนิลอีกด้วย ในคราวเดียวกัน ทำให้ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีนักมวยคนใดในแขวงเมืองพิชัย เมืองทุ่งยั้ง เมืองลับแลและเมืองฝาง กล้ามาขันสู้ในเชิงชกมวยกับนายทองดีอีกเลย ต่อมาอีก 3 เดือน พระสงฆ์จากเมืองสวรรคโลกได้ชักชวนนายทองดีเดินทางไปเมืองสวรรคโลกด้วย และได้ฝากนายทองดีไว้กับครูฟันดาบผู้ฝึกการฟันดาบให้กับบุตรเจ้าเมืองสวรรคโลก นายทองดีได้ฝึกหัดการต่อสู้ด้วยดาบอยู่ประมาณ 3 เดือน ได้ซ้อมฟันดาบกับบุตรชายเจ้าเมืองสวรรคโลกอย่างคล่องแคล่วจนจบหลักสูตร จึงได้ลาครูฟันดาบเดินทางไปเมืองสุโขทัยและได้ไปขอสมัครเป็นศิษย์ครูจีนแต้จิ๋วคนหนึ่งเพื่อฝึกมวยจีน ซึ่งนายทองดีได้ฝึกฝนอยู่จนสำเร็จเช่นกัน และที่สำนักมวยจีนแห่งนี้เองเด็กชายบุญเกิดได้สมัครเป็นศิษย์ของนายทองดี ซึ่งบุญเกิดได้เป็นผู้ติดสอยห้อยตามนายทองดีในเวลาต่อมา ขณะที่นายทองดีและบุญเกิดอาศัยอยู่ที่วัดธานีได้ประมาณ 6 เดือน ก็มีชาวจีนคนหนึ่งซึ่งมาจากเมืองตากได้เห็นฝีมือของนายทองดีจึงชวนไปเมืองตากด้วยกันโดยเล่าว่าพระยาตากเจ้าเมืองมีความสนใจและชอบคนที่มีฝีมือ ซึ่งในความจริงแล้วการที่ชวนนายทองดีเดินทางไปด้วยนั้นคงต้องการมีเพื่อน เดินทางเพื่อช่วยระวังภัยให้เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าระหว่างทางกลางป่าที่จะไปเมืองตากนั้นมีเสือ ดุร้ายที่ผู้คนต่างหวาดกลัวกันมาก อย่างไรก็ตามนายทองดีก็ตกลงไปเมืองตากกับชาวจีนคนนั้นโดยมีบุญเกิดติดตามไปด้วย ระหว่างทางกลางป่าในตอนกลางคืนเสือได้เข้ามาคาบบุญเกิดไป นายทองดีได้ติดตามเข้าช่วยโดยได้ต่อสู้กับเสือจนเสือบาดเจ็บหนีไป แต่บุญเกิดเองก็ถูกคมเขี้ยวของเสือกัดบาดเจ็บหลายแห่งอาการสาหัส ต้องพาไปรักษาตัวที่วัดใหญ่เมืองตากอยู่นานถึงสองเดือน อาการจึงทุเลา วันหนึ่งเจ้าพระยาตากมาถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่วัดใหญ่ซึ่งมีการชกมวยฉลองด้วย นายทองดีได้ชกกับครูมวยชื่อ “ห้าว” และสามารถเอาชนะได้ เจ้าพระยาตากอยากดูฝีมือนายทองดีอีกจึงได้จัดให้ชกกับครูมวยชื่อ “หมึก” ซึ่งนายทองดีก็สามารถชกเอาชนะได้อีกทำให้เจ้าพระยาตากชอบใจในฝีมือของนายทองดีมาก โดยได้มอบรางวัลให้ 5 ตำลึง และรับตัวเข้าทำงานด้วย พอนายทองดีอายุ 21 ปี เจ้าพระยาตากได้จัดการอุปสมบทให้ บวชอยู่ 1 พรรษา ก็สึกออกมาอยู่กับเจ้าพระยาตากต่อไป โดยเจ้าพระยาตากได้แต่งตั้งให้เป็น “หลวงพิชัยอาสา” และยังได้ยกนางสาวรำยงซึ่งเป็นสาวใช้ของภริยาของเจ้าพระยาตากให้เป็นภรรยาของหลวงพิชัยอาสาด้วย ในครั้งนั้นเมื่อเจ้าพระยาตากจะไปไหนมาไหนก็มักจะให้หลวงพิชัยอาสาติดตามไปด้วยทุกครั้ง ต่อมาเจ้าพระยาตากได้รับท้องตรากระแสร์พระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพระยาตากไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงศรีอยุธยา โดยเจ้าพระยาตากได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้เป็นที่พระยาวชิรปราการครองเมืองกำแพงเพชร หลวงพิชัยอาสาก็ตามเจ้าพระยาตาก (พระยาวชิรปราการ) ไปด้วย แต่พอดีกับพม่าได้กองทัพใหญ่มาล้อมกรุงศรีอยุธยา พระยาวชิรปราการและหลวงพิชัยอาสาก็อาสาเข้าช่วยรบกับพม่าภายในกรุงศรีอยุธยาด้วย แต่เนื่องด้วยไม่ได้รับความยุติธรรมและขาดความอิสระในการรบพุ่ง ดังนั้นพระยาวชิรปราการพร้อมด้วยหลวงพิชัยอาสาและพรรคพวก ซึ่งมี พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา หลวงราชเสนา หลวงราชเสน่หา ขุนอภัยภักดี หมื่นราชเสน่หา และพลทหารจำนวนหนึ่งจึงได้ ร่วมกันตีฝ่าวงล้อมของทหารพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยา เดินทางผ่านเมืองปราจีนบุรี ระยอง จนถึงเมืองจันทบุรี รวบรวมผู้คน เสบียงอาหารและอาวุธยุทธภัณฑ์ไว้พร้อมแล้วจึงยกทัพเรือลงมาตีเมืองธนบุรี ได้รบกับ “นายทองอิน” ซึ่งพม่าตั้งให้รักษาเมืองอยู่ โดยได้จับนายทองอินประหารชีวิตเสียในครั้งนั้น สุกี้พระนายกองพม่าที่รักษากรุงศรีอยุธยาซึ่งตั้งค่ายอยู่ที่โพธิ์สามต้นได้ทราบข่าวจึงให้ “มองหย่า” เป็นนายทัพคุมทหารมอญและทหารไทยมาตั้งรับอยู่ที่บ้านพะเนียด พระยาวชิร-ปราการจึงสั่งให้หลวงพิชัยอาสาเป็นนายทัพหน้ายกเข้าตีมองหย่า มองหย่าซึ่งมีความเกรงกลัวฝีมือของหลวงพิชัยอาสาจึงถอยทัพหนีไปมิได้คิดอยู่ต่อสู้ พระยาวชิรปราการสั่งให้หลวงพิชัยอาสาบุกเลยเข้าไปตีค่ายโพธิ์สามต้น ได้ล้อมค่ายของสุกี้พระนายกองอยู่ถึงสองวันก็สามารถตีค่ายโพธิ์สามต้นจนแตกโดยตัวสุกี้พระนายกองตายในสนามรบ เมื่อได้ชัยชนะแล้วพระยาวชิรปราการได้เข้าไปตั้งพลับพลาอยู่ในพระนครเห็นปราสาทและตำหนักต่างๆ ถูกเพลิงเผาไม้เสียหายมากอย่างยากที่จะบูรณะซ่อมแซมใหม่ จึงได้เคลื่อนย้ายทหารและพลเรือนไปสร้างเมืองธนบุรีให้เป็นราชธานีแห่งใหม่ และได้ทำพิธีปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อ ปี พ.ศ.2311 ทรงพระนามว่า “พระบรมราชาธิราชที่ 4” แต่มักเรียกกันว่า “สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี” หรือ “สมเด็จพระเจ้าตากสิน” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หลวงพิชัยอาสา เป็น “เจ้าหมื่นไวยวรนาถ” มีตำแหน่งเป็นนายทหารเอกองครักษ์ในพระองค์ เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีสร้างเมืองธนบุรีเป็นราชธานีแล้วจึงทรงดำเนินการปราบก๊กต่าง ๆ ที่ตั้งตัวเป็นใหญ่ โดยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือปราบได้ก๊กของกรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งอยู่ที่เมืองพิมาย และได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่ตั้งให้เจ้าหมื่นไววรนาถเป็น “พระยาสีหราชเดโช” แล้วจากนั้นจึงเสด็จยกทัพไปปราบก๊กฝ่ายเหนือ ซึ่งสามารถปราบก๊กเจ้าพระฝาง เมื่อ พ.ศ. 2313 แล้วได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งพระยาสีหราชเดโช เป็น ”พระยาพิชัย” ให้ครองเมืองพิชัย ต่างพระเนตรพระกรรณ โดยให้มีไพร่พล 8,000 คน ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องยศให้เสมอด้วยเจ้าพระยาสุรสีห์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่ตั้งให้นายบุญเกิดคนสนิทของพระยาพิชัย เป็น “หมื่นหาญณรงค์” นายทหารคนสนิทของพระยาพิชัยอีกด้วย เมื่อพระยาพิชัยไปครองเมืองพิชัยนั้นได้ทราบข่าวว่าบิดาถึงแก่กรรมเสียแล้วแต่มารดายังมีชีวิตอยู่จึงให้ทนายไปตามหามารดา พอมารดามาถึง มารดาได้หมอบกราบพระยาพิชัยโดยไม่ได้เงยหน้าดูเพราะความกลัว ด้วยยังไม่ทราบว่าพระยาพิชัยเป็นบุตรของตัว พระยาพิชัยจึงรีบลุกไปจับมือมารดาไว้ห้ามไม่ให้กราบไหว้ตน และได้กราบลงกับเท้ามารดาแล้วเล่าเหตุการณ์ที่ได้ซัดเซพเนจรให้มารดาฟังตั้งแต่ต้นจนกระทั่งได้มาครองเมืองพิชัย เมื่อมารดาทราบว่าพระยาพิชัยเป็นบุตรของตนก็ร้องไห้ด้วยความดีใจ ซึ่งในครั้งนั้นครูเที่ยงที่บ้านแก่งและครูเมฆที่ท่าเสาก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกำนันเช่นกัน เป็นการสนองคุณของผู้มีพระคุณทั้งสองนั่นเอง ในปลายปี พ.ศ.2313 นี้เอง โปมะยุง่วน ซึ่งพม่าตั้งให้รักษาเมืองเชียงใหม่ได้ยกกองทัพชาวพม่าและชาวล้านนาลงมาตีเมืองสวรรคโลก พระยาพิชัยก็ยกทัพเมืองพิชัยไปช่วยรบร่วมกับกองทัพเมืองพิษณุโลก ตีทัพพม่าแตกหนีไป ต่อมาในปี พ.ศ.2515 โปสุพลา ซึ่งมาอยู่ช่วยราชการรักษาเมืองเชียงใหม่ได้ยกกองทัพมาตีเมืองลับแลจนแตก แล้วยกลงมาตีเมืองพิชัย โดยตั้งค่ายอยู่ใกล้กับวัดเอกา พระยาพิชัยก็จัดทัพเพื่อการป้องกันเมืองพิชัยอย่างเข้มแข็ง เจ้าพระยาสุรสีห์ได้ยกกองทัพเมืองพิษณุโลกขึ้นมาช่วยเมืองพิชัย ทัพของเจ้าพระยาสุรสีห์และทัพของพระยาพิชัยได้เข้าตี ทัพของพม่า มีการสู้รบกันถึงขั้นตะลุมบอน ทัพไทยไล่ฟันแทงทัพพม่าล้มตายเป็นอันมาก จนทัพพม่าแตกพ่ายกลับไปเมืองเชียงใหม่ รุ่งขึ้นปีต่อมา (พ.ศ.2316) โปสุพลา ยกกองทัพพม่ามาตีเมืองพิชัยอีก พระยาพิชัยยกพลทหารออกไปต่อรบตั้งแต่กลางทางก่อนที่ทัพพม่าจะเข้ามาถึงเมือง เจ้าพระยาสุรสีห์ก็ยกกองทัพเมืองพิษณุโลกมาช่วยอีกครั้ง ในครั้งนี้ก็เช่นกันกองทัพไทยรบกับกองทัพพม่าอย่างเข้มแข็ง พระยาพิชัยถือดาบสองมือนำหน้าเหล่าทหารออกไล่ฟันพม่าจนดาบหักคามือแต่ก็สามารถตีกองทัพพม่าจนแตกพ่ายไป จนเลื่องลือเรียกขานนามของท่านว่า “พระยาพิชัยดาบหัก” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ซึ่งมีเรื่องเล่าว่าตอนที่พระยาพิชัยคุมพลทหารออกไล่ฟันแทงพม่านั้น เนื่องจากเป็นการชุลมุนกำลังตะลุมบอนฟันแทงกันอยู่ เท้าของพระยาพิชัยเหยียบดินลื่นเสียหลักเซจนล้มจึงเอาดาบยันดินไว้เพื่อไม่ให้ล้ม ดาบจึงหักไป 1 เล่ม ทหารพม่าเมื่อเห็นพระยาพิชัยเสียหลักเช่นนั้นได้ปราดเข้าไปจะฟันซ้ำ แต่หมื่นหาญณรงค์นายทหารคู่ชีพของพระยาพิชัยมองเห็นก่อนจึงได้ปรี่เข้าไปกันไว้และได้ฟันทหารพม่าผู้นั้นตายคาที่ แต่แล้วกระสุนปืนพม่าได้ยิงมาถูกหมื่นหาญณรงค์ตรงอกทะลุหลังล้มพับขาดใจตายในขณะนั้น พระยาพิชัยเห็นหมื่นหาญณรงค์ถูกระสุนปืนข้าศึกตายกับตาตนเองดังนั้นก็เศร้าเสียใจอาลัยหมื่นหาญณรงค์ผู้เป็นศิษย์รัก จึงเกิดบันดาลโทสะเข้าไล่ตะลุมบอนฟันแทงพม่าอย่างไม่คิดชีวิต จนกองทัพพม่าต้านทานไม่ไหวหนีแตกพ่ายไป พระยาพิชัยดาบหัก ได้ร่วมรบกับพม่าอีกหลายครั้งจนกระทั่งสิ้นแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติกรุงรัตนโกสินทร์ ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เสนาบดีเรียกตัวพระยาพิชัยดาบหักไปถามว่าจะอยู่ทำราชการต่อไปหรือไม่ ถ้ายอมอยู่ทำราชการต่อไปก็จะชุบเลี้ยงเพราะถือว่าไม่มีความผิดอะไร แต่พระยาพิชัยดาบหักตรองแล้วเห็นว่าหากอยู่ไปคงได้รับภัยมิวันใดก็วันหนึ่งเพราะตัวท่านเป็นข้าหลวงเดิมอันสนิทของพระเจ้ากรุงธนบุรีย่อมเป็นที่ระแวงในภายหน้า ประกอบกับกำลังมีความเศร้าโศกอาลัยในพระเจ้ากรุงธนบุรีจนถึงกับสิ้นความอาลัยในชีวิต จึงกราบบังคมทูลว่าขอให้ประหารชีวิตของตนให้ตายตามเสด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีและขอฝากบุตรชายให้ได้ทำราชการสนองพระเดชพระคุณแทนตนเพื่อสืบตระกูลต่อไปในภายหน้า ขณะนั้นพระยาพิชัยดาบหักมีอายุได้ 41 ปีเศษ ต่อมาในสมัย รัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้สืบตระกูลพระยาพิชัยดาบหักได้รับพระราชทานนามสกุลว่า “วิชัยขัทคะ” ซึ่งแปลได้ว่า “ดาบวิเศษของพระยาพิชัยดาบหัก” นั่นเอง
[แก้ไข] อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ประดิษฐานอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ อำเภอเมือง สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติประวัติของท่านในความองอาจกล้าหาญ รักชาติและเสียสละ เมื่อครั้งพระยาพิชัยซึ่งปกครองเมืองพิชัยในสมัยกรุงธนบุรี ท่านได้สร้างเกียรติประวัติไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปี พ.ศ. 2316 พม่ายกทัพมาตีเมืองพิชัย พระยาพิชัยได้ยกทัพไปสกัดทัพพม่าจนแตกพ่ายกลับไป การรบในครั้งนั้น ดาบคู่มือของพระยาพิชัยได้หักไปเล่มหนึ่ง แต่ก็ยังรบได้ชัยชนะต่อทัพพม่า ด้วยวีรกรรมดังกล่าวจึงได้สมญานามว่า "พระยาพิชัยดาบหัก" อนุสาวรีย์แห่งนี้ออกแบบและหล่อโดยกรมศิลปากร ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช


สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
พระราชประวัติ
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ พระเจ้ากรุงธนบุรี มีพระนามเดิมว่า สิน ( ชื่อจีนเรียกว่า เซิ้นเซิ้นซิน ) เป็นบุตรของขุนพัฒน์ ( นายหยง หรือ ไหฮอง แซ่อ๋อง บางตำราก็ว่า แซ่แต้ ) และ นางนกเอี้ยง ( กรมพระเทพามาตย์ ) เกิดเมื่อวันอาทิตย์ มีนาคม พ.ศ. 2277 ในแผ่นดิน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา ต่อมา เจ้าพระยาจักรีผู้มีตำแหน่งสมุหนายกเห็นบุคลิกลักษณะ จึงขอไปเลี้ยงไว้เหมือนบุตรบุญธรรม ตั้งแต่ครั้งยังเยาว์วัยได้รับการศึกษาขั้นต้นจากสำนักวัดโกษาวาส (วัดคลัง ) และ บรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุ 13 ขวบ ที่วัดสามพิหาร หลังจากสึกออกมาแล้ว ได้เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็ก และ อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่ออายุครบ 21 ปีตามขนบประเพณี ของไทยบวชอยู่ 3 พรรษา หลังจากสึกออกมาได้เข้ารับราชการ ต่อ ณ. กรมมหาดไทยที่ศาลหลวงในกรมวัง ต่อมาในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์) จึงได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตากจนได้เป็นพระยาตาก ในเวลาต่อมา หลังจากนั้นได้ถูกเรียกตัวเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา เพื่อแต่งตั้งไปเป็น พระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชรแทนเจ้าเมืองคนเก่าที่ถึงแก่อนิจกรรมลงใน พ.ศ. 2310 ครั้นเจริญวัยวัฒนา ก็ได้ไปถวายตัวทำราชการกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีความดีความชอบจนได้รับเลื่อนหน้าที่ราชการไปเป็นผู้ปกครองหัวหน้าฝ่ายเหนือคือ เมืองตาก และเรียกติดปากมาว่า พระยาตากสิน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชครองราชย์สมบัติกรุงธนบุรีได้ 15 ปีเศษ ก็สิ้นพระชนม์มีชนมายุ 48 พรรษา กรุงธนบุรีมีกำหนดอายุกาลได้ 15 ปี

ผลงานอันสร้างชื่อของพระเจ้าตากสิน
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์มีความสำคัญที่ชาวไทยไม่สามารถจะลืมในพระคุณงามความดีที่ทรงกอบกู้เอกราชเริ่มแต่ในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2309 ซึ่งตรงกับวันเสาร์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือนยี่ จุลศักราช 1128 ปีจอ อัฐศก พระยาวชิรปราการ (ยศในขณะนั้น) เห็นว่ากรุงศรีอยุธยาคงต้องเสียทีแก่พม่า จึงตัดสินใจรวบรวมทหารกล้าราว 500 คน ตีฝ่าวงล้อมทหารพม่า โดยตั้งใจว่าจะกลับมากู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนให้ได้โดยเร็ว ทรงเข้ายึดเมืองจันทบุรี เริ่มสะสมเสบียงอาหาร อาวุธ กำลังทหาร เพื่อเข้าทำการกอบกู้กรุงศรีอยุธยา กรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อวันอังคาร ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 8 ปีกุน นพศก จุลศักราช 1129 ตรงกับ พ.ศ.2310 และสมเด็จพระเจ้าตากสิน สามารถกู้กลับคืนมาได้ เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก ซึ่งตรงกับวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2310 รวมใช้เวลารวบรวมผู้คนจนเป็นทัพใหญ่กลับมากู้ชาติด้วยระยะเวลาเพียง 5 เดือนเท่านั้น เมื่อทรงจัดการบ้านเมืองเรียบร้อยพอสมควร บรรดาแม่ทัพ นายกอง ขุนนาง ข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ตลอดทั้งสมณะพราหมณาจารย์และอาณาประชาราษฎร์ทั้งหลาย จึงพร้อมกันกราบบังคมทูลอัญเชิญขึ้นทรงปราบดาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ ณ วันพุธ เดือนอ้าย แรก 4 ค่ำ จุลศักราช 1130 ปีชวด สัมฤทธิศก ตรงกับวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2311 ทรงพระนามว่า พระศรีสรรเพชญ์ หรือสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 แต่เรียกขานพระนามของพระองค์ติดปากว่า สมเด็จพระเจ้าตากสิน หรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี


พระราชกรณียกิจที่สำคัญ ๆ
นอกจากพระราชกรณียกิจในด้านกู้ชาติแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสิน ยังได้ปราบอริราชศัตรูที่มักจะล่วงล้ำเขนแดนเข้ามาซ้ำเติมไทยยามศึกสงครามอยู่เสมอ จนในสมัยของพระองค์ได้ขยายอาณาเขตออกไปอย่างไพศาล กล่าวคือ
ทิศเหนือ ได้ดินแดนหลวงพระบาง และเวียงจันทน์
ทิศใต้ ได้ดินแดนกะลันตัน ตรังกานู และไทรบุรี
ทิศตะวันออก ได้ดินแดนลาว เขมร ทางฝั่งแม่น้ำโขงจดอาณาเขตญวน
ทิศตะวันตก จรดดินแดนเมาะตะมะ ได้ดินแดน เมืองทวาย มะริด ตะนาวศรี
พระองค์ยังโปรดเกล้าฯ ให้มีการฟื้นฟูและสร้างวรรณกรรม นาฏศิลป์ และการละครขึ้นใหม่ แม้ว่าจะมีศึกสงครามตลอดรัชกาล กระนั้นก็ยังทรงพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ถึง 4 เล่ม สมุดไทย ในปี พ.ศ.2312 นับว่าทรงมีอัจฉริยภาพสูงส่งเป็นอย่างมาก และในรัชสมัยของพระองค์มีกวีที่สมควรได้รับการยกย่อง 2 ท่าน คือ
นายสวน มหาดเล็ก ซึ่งแต่งโคลงสี่สุภาพ แต่งขึ้นเพื่อยกพระเกียรติและสรรเสริญ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี 85 บท เป็นสำนวนที่เรียบง่าย แต่ทรงคุณค่าด้วยเป็นหลักฐานที่คนรุ่นต่อมาได้ทราบถึงสภาพบ้านเมืองและความเป็นไปในยุคนั้น
หลวงสรวิชติ (หน) ซึ่งต่อมาในสมัย
กรุงรัตนโกสินทร์ มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาพระคลัง (หน) งานประพันธ์ของท่านเป็นที่รู้จักและแพร่หลาย จนถึงปัจจุบัน เช่น สามก๊ก เป็นต้น
พระเจ้าตากสิน ยังโปรดให้มีการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา การติดต่อการค้ากับต่างประเทศ ในด้านการปกครอง หลังจากสถาปนาเมืองธนบุรีเป็นราชธานีแล้ว ทรงจัดวางตำแหน่งหน้าที่ข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ทรงสอดส่องทุกข์สุขของราษฎร และหลังจากกอบกู้แผ่นดินได้แล้ว พระองค์ได้ทรงอัญเชิญพระบรมศพ
สมเด็จพระเจ้าเอกทัศมาจัดถวายพระเพลิงอย่างสมพระเกียรติและยังทรงรับอุปการะบรรดา เจ้าฟ้า พระองค์ฟ้า พระราชโอรส ตลอดทั้งพระเจ้าหลานเธอของพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาทุกพระองค์ ด้วยความกตัญญูกตเวที

ถวายพระนามมหาราช และการสร้างพระราชอนุสาวรีย์

ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ตามที่กล่าวมาแล้ว ประชาชนทุกหมู่เหล่าจึงพร้อมใจกันถวายพระนาม “มหาราช” แด่ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” และรัฐบาลอันมี ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งเหล่าพสกนิกรชาวไทย ได้พร้อมใจกันสร้างพระราชอนุสาวรีย์ประดิษฐาน ณ วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี ซึ่งศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี คณบดีประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรขณะนั้น เป็นผู้ออกแบบ ทางราชการได้ประกอบพระราชพิธีเปิดและถวายบังคมพระบรมราชอนุสาวรีย์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2497 และในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2497 จึงมีรัฐพิธีเปิดเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทรงวางพวงมาลา ถวายราชสักการะ ต่อมาทางราชการจึงกำหนดให้วันที่ 28 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเสวยราชย์ปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ไทย เป็นวันถวายบังคมพระบรมราชอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช


กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันถวายบังคมพระบรมราชอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน สถานที่ราชการ
จัดนิทรรศการเผยแพร่พระราชประวัติและพระเกียรติคุณของพระเจ้าตากสินมหาราช อันมีต่อปวงชนชาวไทย
ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การนำพวงมาลาไปถวายบังคมพระบรมราชานุสรณ์ การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ต่อสังคม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล

วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ประวัติบุคคลสำคัญ


ศิลป์ พีระศรี

117 ปี ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีมหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับกรมศิลปากร สมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยศิลปากรและสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร จัดงาน 'วันศิลป์ พีระศรี' ขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อรำลึกถึงศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้เปรียบเสมือนบิดาของวงการศิลปะร่วมสมัยของไทยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เดิมชื่อ CORRADO FEROCI เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2435 ที่ตำบลซานยิโอวานนี เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี บิดาชื่อนายอาร์ทูโด มารดาชื่อนางซันตินา มีอาชีพทำธุรกิจการค้า ท่านได้สมรสกับนาง FANNI VIVIANI มีบุตรด้วยกัน 2 คน บุตรหญิงชื่ออิซาเบลลา ปัจจุบันเป็นนักธุรกิจ บุตรชายชื่อโรมาโน เป็นสถาปนิกศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นชาวฟลอเรนซ์ เมืองที่เต็มไปด้วยศิลปะ เมื่อเยาว์วัยท่านชื่นชมผลงานศิลปกรรมของไมเคิล แองเจโล ประติมากรเอกของโลกชาวฟลอเรนซ์ เมื่อโตขึ้นจึงได้เข้าศึกษาศิลปะที่ราชวิทยาลัยศิลปะแห่งนครฟลอเรนซ์ จบการศึกษาตั้งแต่อายุยังน้อยเพียง 23 ปีเท่านั้น โดยได้รับประกาศนียบัตรช่างเขียนช่างปั้นและเข้าสอบชิงตำแหน่งศาสตราจารย์ ได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่งผลงานในวัยหนุ่มที่ได้รับยกย่องและมีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะของศิลปิน คือ ได้รับรางวัลชนะการประกวดออกแบบอนุสาวรีย์หลายครั้งชีวิต ในวัยหนุ่มศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นวัยที่มีพลัง ท่านจึงไม่พอใจในสภาพชีวิตที่เป็นอยู่ในสังคมที่เจริญแต่เพียงด้านวัตถุใน ประเทศอิตาลีสมัยนั้น เมื่อท่านได้ทราบข่าวว่ารัฐบาลแห่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ต้องการช่างปั้นชาวอิตาเลี่ยน เพื่อเข้ามารับราชการงานอนุสาวรีย์ในประเทศไทย ท่านจึงยื่นความจำนงพร้อมผลงานเข้าแข่งขันกับศิลปินอีกจำนวนมาก ในที่สุดรัฐบาลไทยได้ท่านเข้ามารับราชการในประเทศไทยศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ได้ออกเดินทางโดยทางเรือจากประเทศอิตาลีถึงกรุงสยามในราวต้นเดือนมกราคมพ .ศ.2466 ขณะอายุได้ 31 ปี เข้ารับราชการในตำแหน่งช่างปั้นของกรมศิลปากร กระทรวงวังเมื่อวันที่ 14 มกราคม ปีเดียวกัน โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ศิลปินเอกแห่งกรุงสยามเป็นองค์อุปถัมภ์ในระยะแรกเป็นช่วงเวลา ที่ท่านต้องปรับตัวเองให้เข้ากับสังคมแวดล้อมและการเมือง อีกทั้งยังต้องสร้างผลงานให้เป็นที่ยอมรับของผู้มีอำนาจในสมัยนั้น ด้วยความมุ่งมั่นในการสร้างผลงาน รัฐบาลไทยจึงได้ยอมรับท่านเรื่อยมา เช่น มอบหมายให้ปั้นพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 เท่าพระองค์จริง ปัจจุบันประดิษฐานในปราสาทพระเทพบิดร และปั้นพระรูปสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ฯลฯ จากการเริ่มใช้ชีวิตในเมือง ไทยในตำแหน่งช่างปั้น สังกัดกรมศิลปากร ท่านเป็นผู้นำศิลปะแบบตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยจนเป็นที่รู้จักกัน แพร่หลายจนกระทั่งปัจจุบันนี้ จากความมุ่งมั่นของท่านที่ได้สร้างผลงานจนเป็นที่ยอมรับในวงการศึกษา ทำให้ท่านสามารถพัฒนาโรงเรียนศิลปากร ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนศิลปะให้แก่นักเรียนเท่านั้น จนสามารถยกฐานะมาเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีการเรียนการสอนศิลปะแห่งแรกใน ประเทศไทยนั่นก็คือ 'มหาวิทยาลัยศิลปากร'นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้ สร้างสรรค์งานศิลปะชิ้นสำคัญๆ ในประเทศไทยซึ่งเป็นมรดกให้ประชาชนชาวไทยได้ชื่นชมจนกระทั่งทุกวันนี้มากมาย หลายชิ้น อาทิ งานด้านพระบรมรูป พระบรมราชานุสาวรีย์ อนุสาวรีย์ที่สำคัญๆ ในประเทศไทยหลายแห่ง นอกจากนี้ท่านได้สร้างผลงานทางวิชาการอีกมากมายโดยท่านได้แต่งตำราเรียน บทความทางวิชาการไว้มากมายหลายเรื่อง ท่านได้อุทิศตนเพื่อสอน ศิลปะทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติให้แก่ศิษย์ จนกระทั่งผลงานของท่านตลอดจนศิษย์ของท่านแพร่หลายอย่างกว้างขวางทั้งใน ประเทศและต่างประเทศ งานอนุสาวรีย์ในเมืองไทยศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ประสงค์ที่จะใช้บุคลากรที่เป็นคนไทยในการทำงานศิลปะ เมื่อท่านได้มีโอกาสจัดสร้างอนุสาวรีย์ ท่านได้ฝึกฝนกุลบุตรกุลธิดาของไทยให้ได้ศึกษาเรียนรู้วิชาการปั้น และการหล่อโลหะขนาดใหญ่ การจัดสร้างอนุสาวรีย์ในยุคสมัยของท่านดังกล่าว นับเป็นยุคแรกที่ได้มีการจัดสร้างอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญขึ้นในประเทศไทยผลงานที่สำคัญซึ่งปรากฏเห็นในปัจจุบันมีดังนี้- พระบรมราชานุสาวรีย์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีขนาด 3 เท่าคนจริง ประดิษฐานที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ท่านเป็นช่างปั้น และเดินทางไปควบคุมการหล่อที่ประเทศอิตาลี สร้างเมื่อ พ.ศ.2472- อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา สร้างเมื่อ พ.ศ. 2477- รูปปั้นหล่อประกอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2485- พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สวนลุมพินี สร้างเมื่อ พ.ศ. 2484- พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่วงเวียนใหญ่ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2493- พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดสุพรรณบุรี สร้างเมื่อ พ.ศ.2497 - รูปปั้นประดับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน- พระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑล 25 พุทธศตวรรษที่จังหวัดนครปฐม พ.ศ.2498นอก จากนั้นยังมีโครงการที่ทำยังไม่แล้วเสร็จคือ พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดลพบุรี เป็นต้นผลงานด้านการศึกษาด้วย เหตุที่ท่านได้ฝึกฝนเยาวชนไทยให้เข้าช่วยงานปั้นอนุสาวรีย์ จึงเป็นแรงบันดาลใจท่านจัดตั้งโรงเรียนของทางราชการขึ้นในปี พ.ศ.2469 โดยสอนเฉพาะวิชาประติมากรรม ต่อมาในปีพ.ศ.2481 ทางกระทรวงธรรมการได้เห็นความสำคัญในสิ่งที่ท่านทำ จึงได้จัดตั้งขึ้นเป็นโรงเรียนศิลปากร จัดทำหลักสูตรศิลปกรรมชั้นสูง 4 ปี ต่อมาโรงเรียนแห่งนี้ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี พ.ศ.2486 ปัจจุบันมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นสถาบันการศึกษาอุดมศึกษาสังกัดทบวง มหาวิทยาลัยผลงานด้านเอกสารทางวิชาการศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มีผลงานทางด้านเอกสารทางวิชาการ ตำรา และบทความมากมาย ซึ่งล้วนแต่ให้ความรู้ทางศิลปะ พยายามชี้ให้เห็นคุณค่าของศิลปะ เช่น ทฤษฎีของสี ทฤษฎีแห่งองค์ประกอบศิลป์ คุณค่าของจิตรกรรมฝาผนัง ศิลปะและราคะจริต อะไรคือศิลปะ ภาพจิตรกรรมไทย พรุ่งนี้ก็ช้าเสียแล้ว ฯลฯ ตลอดเวลาที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้เดินทางเข้ามารับราชการและใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย ท่านได้ทุ่มเทความรัก ความรับผิดชอบให้แก่งานราชการอย่างมหาศาลแม้ว่าท่านอยู่ในฐานะของชาวต่าง ชาติก็ตาม ในปีพ.ศ.2485 ท่านได้โอนสัญชาติเป็นไทยและเปลี่ยนชื่อเป็นไทย พ.ศ.2502 สมรสกับคุณมาลินี เคนนี และใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยตลอดอายุของท่านศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจและโรคเนื้องอกในลำไส้ที่โรงพยาบาลศิริรราช เมื่อคืนวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2505 รวมอายุได้ 69 ปี 7 เดือน 29 วัน ท่านได้อุทิศตนให้กับราชการไทยเป็นเวลาทั้งสิ้น 38 ปี 4 เดือน

ประวัติบุคคลสำคัญ


ครูเอื้อ สุนทรสนาน

ถือเป็น “ครั้งแรก” ของบุคคลด้านดนตรีของประเทศไทย ที่ได้รับการยกย่องเป็น “บุคคลสำคัญของโลก”เคียงบ่าเคียงไหล่ของศิลปินระดับโลกอาทิ ลุดวิก ฟาน เบโทเฟน, โวล์ฟกังอะมาเดอุส โมซาร์ท, โยฮันน์สเตราส์ และเฟรเดริก ฟรองซัวส์โชแปง ฯลฯ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรม และศิลปินไทยมีความสามารถทัดเทียมนานาอารยะประเทศ อันจะนำมาซึ่งความภาคภูมิใจแก่ประชาชนชาวไทยทั่วทั้งโลก ครูเอื้อ สุนทรสนาน หรือ“สุนทราภรณ์” เจ้าของฉายา “ขุนพลเพลงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” ถือเป็นศิลปินด้านดนตรีของไทย “คนแรก” ที่ได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการฝ่ายวัฒนธรรมของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วย การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมของสหประชาชาติ หรือ องค์การยูเนสโก ให้เป็น“บุคคลสำคัญของโลก” ในโครงการเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ ประจำปี 2553-2554 และเนื่องในโอกาสครบ 100 ปี “ครูเอื้อ”สุนทรสนาน กระทรวงวัฒนธรรม เตรียมประกาศอย่างเป็นทางการให้คนไทยทั้งประเทศร่วมยินดีและและจัดกิจกรรม รำลึกถึงครูมากมายครูเอื้อฯ ศิลปินชั้นแนวหน้าของกรุงรัตนโกสินทร์ท่านเป็นนักดนตรีที่มีความสามารถในการ เล่นเครื่องดนตรีได้หลายชนิด อาทิ ไวโอลินแซ็กโซโฟน และคลาริเน็ต ทั้งยังเป็นนักร้องนักแต่งเพลง หัวหน้าวงดนตรี วาทยกร(ผู้ควบคุมวง) และครูผู้เชี่ยวชาญ ตลอดระยะเวลาการทำงานกว่า ๕๐ ปีของครูเอื้อฯท่านมีผลงานร่วมกับครูเพลงท่านอื่นๆ มากถึง๒,๐๐๐ เพลง โดยเนื้อหาของเพลงนั้นมีความหลากหลาย อาทิ เพลงถวายพระพร ปลุกใจเทศกาล สถาบัน เยาวชน จังหวัดและสถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงเพลงที่เกี่ยวกับความรัก ธรรมชาติ ศาสนา และปรัชญาชีวิตในท่วงทำนองที่มีความหลากหลาย อาทิ แจ๊ซบลูส์ คันทรี่ จีน แขก และจังหวะในการลีลาศทุกจังหวะ รวมถึงยังได้คิดค้นจังหวะใหม่ คือตะลุงเท็มโป้ นอกจากนี้ ท่านยังได้นำวงดนตรีไทยเดิมมาบรรเลงเคียงข้างวงดนตรีสากลเกิดเป็นประสบการณ์ ทางด้านดนตรีที่แปลกใหม่ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ สังคีตสัมพันธ์บทเพลงที่ครูเอื้อฯ ได้ประพันธ์ร่วมกับเพื่อนร่วมงานของท่านซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ“เพลงสุ นทราภรณ์” นั้นได้รับการยกย่องว่ามีความสมบูรณ์ทั้งทางคีตศิลป์และวรรณศิลป์เป็นการผสม ผสานเพลงไทยเดิมเข้ากับเพลงสากลได้อย่างลงตัวและมีเอกลักษณ์ถือเป็นต้นแบบ ของเพลงไทยสากลในปัจจุบันและแม้ว่าบทเพลงของท่านจะมีอายุยาวนานกว่าครึ่ง ศตวรรษ แต่บทเพลงหลายๆบทเพลง อาทิ พรานทะเล นางฟ้าจำแลงวังน้ำวน พรานล่อเนื้อ มองอะไร ฟลอร์เฟื่องฟ้าและขอให้เหมือนเดิม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงเทศกาลต่างๆ อาทิ เทศกาลลอยกระทง ปีใหม่ และสงกรานต์ก็ยังคงตราตรึงอยู่ในความทรงจำของคนไทยตราบถึงปัจจุบัน

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร


วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

บริเวณสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามีทิวทัศน์ที่สวยงามอยู่มากมาย อย่างเช่นพระปางค์ขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในบริเวณวัดอรุณราชวราราม ก็เป็นสถานที่สำคัญและสวยงามแห่งหนึ่งที่หลาย ๆ คนรู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดีอยากทราบไหมว่าสถานที่แห่งนี้มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ลองอ่านเรื่องราวกันต่อไปล่ะ
วัดอรุณราชวรารามเป็นวัดโบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา แต่เดิมมีชื่อว่า “ วัดมะกอก ” ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีได้เปลี่ยนมาเรียกว่า “ วัดแจ้ง ” วัดนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์จากวัดเล้ก ๆ จนเป็นวัดขนาดใหญ่ในสมัยกรุงธนบุรี เนื่องจากเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในอาณาเขตของพระบรมมหาราชวังในสมัยนั้น จึงยกเลิกไม่ให้มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงย้ายเมืองหลวงมาอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมด วัดแจ้งจึงอยู่นอกพระราชวัง และทรงอนุญาตให้มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาเหมือนเดิมจนถึงปัจจุบันนี้ทราบประวัติความเป็นมาของวัดแล้ว มาดูกันต่อว่าทีสิ่งสำคัญอะไรอยู่ภายในวัดนี้บ้าง
พระอุโบสถหรือโบสถ์ เป็นสถาปัตยกรรมที่สำคัญและสวยงามมากแห่งหนึ่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระประธานในพระอุโบสถมีพระนามว่า พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อในสมัยรัชกาลที่ ๒ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงปั้นพระพักตร์ของพระพุทธรูปด้วยพระองค์เอง บริเวณใต้ฐานชุกชีของพระพุทธรูปองค์นี้เป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยด้วย
เราจึงถือว่าวัดนี้ เป็นวัดประจำของรัชกาลที่ ๒ รอบ ๆโบสถ์มีระเบียงล้อมอยู่ มีประตูเข้า-ออกอยู่ตรงกึ่งกลางของทั้ง ๔ ทิศ ด้านหน้าของระเบียงโดยรอบมีตุ๊กตาหินรูปทหารจีนตั้งเรียงรายอยู่เป็นแถวถึง ๑๔๔ ตัว ประตูด้านหน้าที่จะเข้าไปในโบสถ์เป็นประตูซุ้มยอกมงกุฎ ซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นปรตูจตุรมุข บริเวณด้านหน้าของประตูนี้มียักษ์ยืนอยู่ ๒ ตัวเป็นยักษ์แบบไทยสูงประมาณ ๖ เมตร ยักษ์สีขาวมีชื่อว่า สหัสเดชะ ส่วนยักษ์สีเขียว คือ ทศกัณฐ์ ยักษ์สองตัวนี้ปั้นด้วยปูนประดับกระเบื้องเคลือบสี สถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งก็คือ พระวิหาร ซึ่งมีลักษณะของสถาปัตยกรรมคล้ายคลึงกับโบสถ์ พระประธานในวัดวิหาร คือ พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร
เห็นว่าใช่ไหมว่าวัดอรุณ ฯ มีสิ่งสำคัญและสวยงามอยู่มากมายจริง ๆ แล้วอย่างนี้จะไม่ลองล่องเรือตามแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วแวะชมความงามของวัดอรุณฯกันบ้างหรือ

วัดพระเชตุพนวิมลมัคลารามราชวรมหาวิหาร


วัดพระเชตุพนวิมลมัคลารามราชวรมหาวิหาร

มีใครเคยเห็นยักษ์บ้างไหม ถ้าอยากเห็นยักษ์ว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร ก็ตามไปดูได้ที่วัดโพธิ์ “ ยักษ์วัดโพธิ์ ” เป็นยักษ์ที่แกะสลักมาจากหินตัวสูงใหญ่มาก รูปร่างหน้าตาเป็นยักษ์จีน รู้จักกับยักษ์วัดโพธิ์แล้วมาทราบเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นมาของวัดโพธิ์กันต่อเลยดีกว่า วัดนี้เป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เดิมชื่อ “ วัดโพธาราม ”แต่ชาวบ้านเรียกกันสั้น ๆ ว่า วัดโพธิ์ ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงวัดราษฎร์เล็ก ๆ เท่านั้น ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี วัดโพธิ์จึงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และยกฐานะเป็นพระอารามหลวง เมื่อถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สถาปนาวัดนี้ใหม่หมดทั้งพระอาราม และพระราชทานนามใหม่ว่า “ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส ” วัดนี้จึงถือเป็นวัดประจำราชกาลที่ ๑ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ ๔ ) ทรงเปลี่ยนสร้อยนามใหม่ว่า “ วัดพระเชตุพลวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ” และได้ใช้นามนี้มาจนทุกวันนี้
ทราบเรื่องราวความเป็นมาของวัดแล้วมาดูกันต่อว่าในวัดโพธิ์นี้มีอะไรที่สำคัญและน่าสนใจอยู่บ้าง อยากทราบแล้วใช่ไหม
สิ่งสำคัญอย่างแรกในวัดโพธิ์ก็คือ โบสถ์หรือพระอุโบสถ ซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นโบสถ์ที่สวยงาม มีบานประตูด้านนอกประดับมุก บานหน้าต่างด้านนอกแกะสลักลวดลายปิดทองประดับกระจก ส่วนด้านในของบานประตูและหน้าต่างเขียนลายรดน้ำ เสาทุกต้นภายในโบสถ์มีลายเขียนสี บริเวณผนังเขียนภาพจิตรกรรม กำแพงระเบียงของโบสถ์ซึ่งเป็นหินอ่อนแกะสลักเป็นภาพรามเกียรติ์ไว้อย่างงดงามพระประธานในโบสถ์คือ พระพุทธเทวปฏิมากร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ที่ใต้ฐานชุกชีของพระพุทธรูปเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอิฐ (บางส่วน ) ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ( รัชกาลที่ ๑ )
ภายในเขตของวัดโพธิ์นี้มีพระวิหารอยู่หลายหลังด้วยกัน พระวิหารหลังสำคัญที่ควรรู้จักก็คือ วิหารพระพุทธไสยาสน์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูน มีระเบียงเดินได้รอบวิหาร ภายในวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ลักษณะเด่นของพระพุทธไสยาสน์องค์นี้คือ ที่ฝ่าพระบาทตกแต่งลายประดับมุกเป็นภาพมงคล ๑0๘ ประการและภายในบริเวณวัดนี้ยังมีหมู่เจดีย์มากมาย เจดีย์ที่สำคัญได้แก่ หมู่พระมหาเจดีย์ประจำรัชกาล ประกอบด้วย ๑. พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชญ์ดาญาณ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ ประดับด้วยกระเบื้องสีเขียวถือว่าเป็นพระเจดีย์ประจำรัชกาลที่ ๑ ๒. พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกลกนิทาน สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ ประดับด้วยกระเบื้องสีขาวถือว่าเป็นพระเจดีย์ประจำรัชกาลที่ ๒ ๓. พระมหาเจดีย์มุนีปัตตบริขาร สร้างในมัยรัชกาลที่ ๓ ประดับด้วยกระเบื้องสีเหลืองถือว่าเป็นพระเจดีย์ประจำรัชกาลที่ ๓ ๔. พระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ ๔ ไม่มีชื่อเรียก ประดับด้วยกระเบื้องสีขาบ หรือสีน้ำเงินแก่อมม่วงนอกจากนี้สิ่งสำคัญต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว วัดโพธิ์ยังเปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย เพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ ๓ ) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้รวบรวมตำราวิชาความรู้ด้านต่าง ๆ เช่น วิชาประวัติศาสตร์ วรรณคดี ตำรายา ตำราหมอนวด ฯลฯ มาจารึกลงในแผ่นศิลาและประดับไว้ในพระอาราม บุคคลทั่วไปจึงสามารถเข้าไปศึกษาหาความรู้ได้ดดยอิสระ ปัจจุบันนี้วัดโพธิ์จึงนับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจและดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ถ้าใครมีเวลาว่างก็แวะไปเที่ยววัดโพธิ์กันบ้าง แล้วอย่าลืมแวะทักทายกับยักษ์วัดโพธิ์ด้วยล่ะ

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤฎิ์ราชวรมหาวิหาร


วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤฎิ์ราชวรมหาวิหาร

วัดสำคัญอีกวัดหนึ่งที่อยู่ไม่ไกลจากวัดพระแก้วนัก ก็คือ บวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤฎิ์ราชวรมหาวิหาร มีใครทราบบ้างว่าวัดนี้มีความสำคัญและประวัติความเป็นมาอย่างไร มาศึกษาประวัติของวัดนี้ไปพร้อม ๆ กันเลยดีไหมวัดนี้เป็นวัดโบราณที่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีชื่อเดิมว่า “ วัดสลัก ” เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีและสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นนั้น วัดสลักตั้งอยู่กลางระหว่างพระบรมมหาราชวังบวรสถานมงคล ( ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ และโรงละครแห่งชาติ ) สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทโปรดให้บูรณปฎิสังขรณ์วัดนี้ไปพร้อม ๆ กับการสร้างพระราชวังบวรสถานมงคลและทรงเปลี่ยนชื่อเป็น “ วัดนิพพานาราม ”
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบริจาคพระราชทรัพย์ในส่วนของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศให้เป็นค่าใช้สอยในการบูรณะวัดแห่งนี้ และโปรดให้เปลี่ยนนามใหม่เป็น “ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ ทราบประวัติความเป็นมาของวัดกันดีแล้วเรามาชมสิ่งสำคัญในวัดกันต่อดีกว่า พระมณฑป ตั้งอยู่ทางด้านหน้าของพระอุโบสถและพระวิหาร มีลักษระองสถาปัตยกรรมแบบไทย ภายในพระมณฑปเป็นที่ประดิษฐานมณฑปยอดปราสาท ซึ่งมี พระเจดีย์ทองศรีรัตนมหาธาตุประดิษฐานอยู่ ส่วนบนของพระเจดีย์เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนใต้ฐานพระเจดีย์บรรจุพระอัฐิพระบรมชนกนาถ (พ่อ) ของพระบาทสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
พระอุโบสถ ตั้งอยู่หลังพระมณฑป เป็นอาคารทรงไทยฐานสูงหลังคามุงกระเบี้ยงเคลือบสีหน้าบันทำจากไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจกพระประธานภายในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย รอบ ๆ พระประธานมีรูปพระอรหันต์ ๘ องค์ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี ทั้งพระประธานและพระอรหันต์นี้ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทโปรดให้สร้างขึ้นพระวิหาร เป็นอาคารทรงไทยฐานสูง ตั้งอยู่คู่กับพระอุโบสถ หน้าบันของพระวิหารทั้งด้านหน้าและด้านหลังเป็นรูปตราพระราชลัญจกรในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศพระประธานภายในพระวิหารเป็นพระพุทธรูปก่ออิฐ ปางมารวิชัย ซึ่งสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ผู้ทรงสถาปนาวัดมหาธาตุขึ้น พระบรมรูปนี้มีขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริงอยู่ในท่าประทับยืน หันพระพักตร์ออกสู่สนามหลวง พระหัตถ์ทั้งสองยกพระแสงดาบในท่าจบเป็นพุทธบูชา และมีจารึกพระราชประวัติบนแผ่นหินอ่อนติดอยู่กับผนังกำแพงด้านขวาของพระบรมรูป
นอกจากนี้ วัดมหาธาตุยังเป็นที่ตั้งของ “ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ” ซึ่งเป็นสถานศึกษาชั้นอุดมศึกษาของพระสงฆ์ รัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาขึ้น อาคารของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่เห็นในปัจจุบันสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นอาคารแบบไทยประยุกต์สูง ๓ ชั้นเห็นไหมว่า วัดมหาธาตุนี้เป็นวัดที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยโบราณเลยทีเดียว คือ เป็นทั้งที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชและของเจ้านายเมื่อทรงผนวชในสมัยรัชกาลต้น ๆ เคยเป็นสถานที่ทำสังคายนาพระไตรปิฎก สถานที่ตั้งพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพของเจ้านายเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสงฆ์ พระมหากษัตริย์ทุกรัชกาลในราชวงศ์จักรีจึงพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ตลอดมาจนปัจจุบัน ถ้าใครได้ผ่านมาทางสนามหลวงก็แวะเข้ามาชมสถานที่สำคัญแห่งนี้กันบ้าง