นับจำนวนผู้เข้าชม(counter

วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ท้าวเทพกระษัตรี


ท้าวเทพกระษัตรี

ประวัติ

เมื่อ... ครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นผ่านพิภพเป็นปฐมบรมกษัตริย์ แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อปีขาล พ.ศ.2325 แล้วนั้นพระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระนครมาตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้เวลาสร้าง 3 ปีจึงแล้วเสร็จในปีมะเส็ง พ.ศ.2328 ในปีนั้นเอง พระเจ้าปดุงกษัตริย์พม่าได้ยกทัพใหญ่ 9 ทัพ มีรี้พลจำนวนรวมกันประมาณ 144,000 คน ยกเข้ามาทางทิศต่าง ๆ 5 ทิศทาง คือ ทางเชียงแสน 1 ทัพ ทางด่านแม่ละเมา 1 ทัพ ทางด่านเจดีย์สามองค์ 5 ทัพ ทางด่านบ้องตี้ 1 ทัพ และทางด้านกระบุรี อีก 1 ทัพ โดยกำหนดให้ยกมาตีเมืองไทยพร้อมกันในเดือนอ้าย ทัพพม่าที่ยกมาทางกระบุรี มีเกงหวุ่นแมงยีเป็นแม่ทัพ คุมรี้พลจำนวน 10,000 คน และเรือกำปั่นรบ จำนวน 15 ลำ มาประชุมทัพอยู่ที่เมืองมะริด แล้วแยกเคลื่อนทัพเป็นทางบก และทางเรือ ทางบก เกงหวุ่นแมงยีแม่ทัพ เป็นผู้คุมทัพเอง มีรี้พล จำนวน 7,000 คน ตีหัวเมืองปักษ์ใต้ฝั่งตะวันออก ตั้งแต่เมืองชุมพร ลงไปถึงเมืองสงขลา ทัพเรือให้ยี่หวุ่น คุมทัพ จำนวน 3,000 คน ตีหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตก ตั้งแต่ตะกั่วป่า จนไปถึงเมืองถลาง ซึ่งจากศึกด้านนี้เองทำให้เกิด 2 วีรสตรีคือ ท้าวเทพกระษัตรี และท้าวศรีสุนทร ผู้สร้างวีรกรรมที่เลื่องลือไปทั่ว แม้ชาวต่างชาติ ผู้สนใจรวบรวมเค้าเงื่อนประวัติศาสตร์ของเมืองถลาง ก็ได้เขียนกล่าวยกย่องสดุดีท่านทั้งสองไว้อย่างมากมาย
โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่ จะรู้จักท่านจากวีรกรรมในศึกครั้งนั้นเพียงด้านเดียว แต่ความเป็นจริงแล้ว ยังมีเกียรติประวัติ และวีรกรรมด้านอื่น ๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความรักชาติ ความเสียสละ กล้าหาญ ความเฉลียวฉลาด และรักเกียรติ ของท่านอีกมาก ซึ่งปรากฏในเอกสารหลักฐานต่าง ๆ หลายแง่มุม สมควรที่จะรวบรวมนำมาสดุดี เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึงคุณงามความดีของท่านที่ได้กระทำไว้ให้ลูกหลานชาวเมือง ถลาง และประเทศชาติสืบไป
ชาติตระกูล
ท้าวเทพกระษัตรี ( คุณหญิงจัน ) เกิดที่เมืองถลาง เป็นบุตร
พระยาถลางจอมร้าง (“จอม” หมายถึงยอดหรือหัวหน้า “ ร้าง” หมายถึง รั้งหรือครองตำแหน่ง ความหมายรวมก็คือ เจ้าเมืองถลางนั้นเอง ) ส่วนมารดาเป็นคนเชื้อแขกอิสลาม บุตรีเจ้าเมืองไทรบุรี ชื่อ หม่าเสี้ย ท่านมีพี่น้อง ร่วมสายโลหิต 5 คน เรียงตามลำดับคือ คุณหญิงจัน คนโต คุณมุก คนรอง คนที่สามชื่อ มา คนที่สี่และห้าเป็นชาย ชื่ออาด และเรือง ครอบครัวของท่านตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านเคียน ชี้ตำแหน่งในปัจจุบันคือบริเวณทิศเหนือของวัดพระนางสร้างฝั่งตรงข้ามคลองบางใหญ่
ชีวิตสมรส...
คุณหญิงจันสมรสกับ
หม่อมศรีภักดีภูธร บุตรจอมนายกอง ชาวนครศรีธรรมราช เจ้าเมืองตะกั่วทุ่ง กับ คุณชีบุญเกิด หม่อมศรีภักดีภูธรอยู่กินกับคุณหญิงจัน จนมีบุตรด้วยกัน 2 คน คนโตเป็นหญิงชื่อปราง คนสุดท้ายเป็นชาย ชื่อเทียน หลังจากนั้นไม่นาน หม่อมศรีภักดีภูธร ก็ถึงแก่กรรม คุณหญิงจัน อยู่เป็นหม้ายได้ 3 ปี จึงได้สมรสใหม่กับ พระยาพิมลขันธ์ และมีบุตรด้วยกัน 5 คน คนโตชื่อ คุณทอง (ต่อมาได้เป็นเจ้าจอมมารดา เจ้าครอกอุบลในรัชกาลที่ 1 ) คนที่ 2 ที่ 3 เป็นชายชื่อจุ้ย และเนียม คนที่สี่ และห้า เป็นหญิง ชื่อ กิม และ เมือง พระยาพิมลขันธ์ท่านนี้เดิมเป็น พระกระ เจ้าเมืองกระบุรีที่หนีศึกพม่ามาพึ่งเมืองนครศรีธรรมราช ครั้งปลายกรุงศรีอยุธยา* พระปลัดหนู ปลัดเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งว่าราชการเมือง แทนพระยาไชยาธิเบศร์ เจ้าเมืองนคร ที่ถูกเรียกตัวเข้าไปช่วยราชการศึกที่กรุงศรีอยุธยา ได้ส่งตัวไปช่วยราชการเมืองถลาง แทน หม่อมศรีภักดีภูธรที่เสียชีวิต จนได้สมรสกับคุณหญิงจันดังที่กล่าว
คุณหญิงจันกับเมืองถลาง...
เนื่องจากท่านทั้งสองเป็นเชื้อสายเจ้าเมืองทั้งฝ่ายบิดา และมารดา จึงได้รับการอบรมฝึกสอนให้มีจิตใจเข้มแข็งอดทน รู้หลักการปกครองผู้คน และราชการงานเมืองเป็นอย่างดีตั้งแต่เยาว์วัย จะเห็นได้จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ในยามวิกฤต ท่านก็สามารถนำพาบ้านเมือง รวมทั้งชีวิตครอบครัว ฝ่าฟันจนลุล่วงผ่านพ้นไปได้อย่างน่าอัศจรรย์
ท้าวเทพกระษัตรี เมื่อครั้งเป็น คุณหญิงจัน และเป็นหม้ายอยู่นั้น ท่านในฐานะบุตรีคนโต นอกจาก จะต้องรับผิดชอบงานบ้านงานเรือน และปกครองดูแลบ่าวไพร่แล้ว ยังต้องเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการ ช่วยเหลือ จอมร้าง บิดาปกครองบ้านเมือง เนื่องจากน้องชายทั้งสอง คือ คุณอาด และคุณเรือง ยังเป็นเด็กอยู่ ไม่สามารถช่วยงานราชการของบิดา ซึ่งอายุมากแล้วในขณะนั้นได้
แม้ต่อมาจะได้ พระยาพิมลขันธ์สามีใหม่ มาช่วยแบ่งเบางานราชการ และเป็นเพื่อนคู่ชีวิต ทำให้มีความสุขอยู่ได้ระยะหนึ่ง แต่ก็มีเหตุต้องบาดหมางใจกัน เนื่องจากปัญหาการสืบทายาท เจ้าเมืองถลาง เหตุการณ์นี้สืบเนื่องจากเมื่อสิ้นบุญ พระยาถลางจอมร้าง ก็เกิดปัญหาเรื่องมรดกเมืองถลาง ว่าใครจะได้สืบทายาทความเป็นเจ้าเมืองคนต่อไป พระยาพิมลขันธ์ สามีคุณหญิงจัน ซึ่งได้ช่วยราชการมานานแล้ว และสูง ด้วยวัยวุฒิ คุณวุฒิ และปัญญาวุฒิ สมควรแก่ตำแหน่งเจ้าเมือง ฝ่ายคุณอาด น้องชายคุณหญิงจัน ก็ถือว่าตัวเป็นทายาทโดยชอบธรรมที่จะครองตำแหน่ง ซึ่งยึดถือปฎิบัติกันมาแต่ครั้งก่อน จึงบาดหมางใจกัน จนมีเรื่องร้องเรียนไปถึงเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ส่วนคุณหญิงจัน ซึ่งเป็นคนกลาง ด้วยเป็นผู้ที่ยึดถือความถูกต้อง และรักเกียรติยิ่งชีวิต แม้จะรักในตัวสามีมากเพียงใด แต่ก็ไม่อาจที่จะสนับสนุน และยินยอมยกเมืองถลาง ตกแก่พระยาพิมลขันธ์ ให้เป็นที่ครหานินทาว่าหลงไหลสามี ยิ่งกว่าน้องร่วมสายโลหิต เหตุการณ์ครั้งนั้นคงจะสะเทือนใจ คุณหญิงจันเป็นที่สุด เพราะเป็นเหตุให้ถึงกับแยกทางกับสามี (มีหลักฐานตามบทความบางฉบับบอกว่าในขณะนั้น มีบุตรด้วยกันแล้วถึง 3 คน) พระยาพิมลขันธ์ เมื่อไม่ได้รับการสนับสนุนให้ขึ้นเป็นเจ้าเมือง จึงปลีกตัวไปอยู่กับ พระปลัดหนูที่เมืองนครศรีธรรมราชอีกครั้ง พระปลัดหนูซึ่งตั้งตัวเป็นเจ้าเมืองนครคนใหม่ในขณะนั้นจึงส่งตัวไปเป็นเจ้าเมืองพัทลุง ฝ่ายคุณหญิงจันพาลูก ๆ ไปอาศัยอยู่กับญาติหม่อมศรีภักดีภูธรสามีเก่า ที่เมืองตะกั่วทุ่งในฐานะสามัญชน
คุณหญิงจันกับการกู้ฐานะ...
ปลายกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ พ.ศ.2301 จนกระทั่งเสียกรุงครั้งที่ 2 ใน พ.ศ.2310 บ้านเมืองเกิดความระส่ำระสาย ข้าราชการและขุนนางเกิดความแตกแยกแบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่า เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมา ของพระมหากระษัตริย์ จาก
พระเจ้าอุทุมพร เป็นพระเจ้าเอกทัศน์ และกลับมาเป็น พระเจ้าอุทุมพร อีกครั้งเพื่อทำการสู้ศึกพม่าที่ยกมาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อเสร็จศึกก็กลับมาเป็น พระเจ้าเอกทัศน์อีกครั้ง ฝ่ายเมืองนครศรีธรรมราช ในระหว่างนั้น เจ้าพระยานคร พระยาไชยาธิเบศร์ ที่ถูกเรียกตัวเข้าไปช่วยราชการศึก ที่กรุงศรีอยุธยา ได้ถึงแก่อนิจกรรม พระปลัดหนู ปลัดเมืองนคร เห็นเป็นโอกาสเหมาะจึงตั้งตัวเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ไม่ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งพระยาตากได้รวบรวมรี้พลกอบกู้บ้านเมืองขับไล่พม่า ออกไปได้แล้ว เสด็จขึ้นปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินในกรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2311 และในปีต่อมา เสด็จมาตีเมืองนครศรีธรรมราชได้แล้ว โปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าหลานเธอ เจ้านรา สุริยวงศ์ ออกมาครองเมืองนครศรีธรรมราช ส่วนพระปลัดหนู เจ้าเมืองนคร ได้นำตัวมาไว้ที่กรุงธนบุรี เพื่อรับราชการตอบสนอง พระราชโองการ ลบล้างความผิด ฝ่ายพระยาพิมลขันธ์ สามีคุณหญิงจันเจ้าเมืองพัทลุง ก็ได้ถูกนำตัวมาด้วยในฐานะขุนนางเมืองบริวารของนครศรีธรรมราช ผู้จงรักภักดีต่อเจ้านคร คือ พระปลัดหนู ต่อมาพระปลัดหนูได้รับความดีความชอบจากการไปราชการศึกสงคราม พระยาพิมลขันธ์ก็พลอยได้รับความดีความชอบไปด้วย จนกระทั่งใน พ.ศ.2314 ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาพิมลขันธ์ ออกมากำกับดูแลการค้าขายแร่ดีบุกที่เมืองถลาง ด้วยเหตุนี้ พระยาพิมลขันธ์ จึงได้กลับมาใช้ชีวิตร่วมกับคุณหญิงจันอีกครั้ง ในช่วงนี้เองครอบครัว คุณหญิงจัน และสามีได้เปลี่ยนผันชีวิตเป็นพ่อค้าติดต่อค้าขายไปถึงเกาะปีนัง เพื่อกอบกู้ฐานะที่ตกต่ำ จนได้รู้จักสนิทสนมกับ นายเรือโทนอกประจำการ ของอังกฤษ ชื่อ กัปตัน ฟรานซิส ไลท์ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นนายพานิช สังกัด บริษัทอิสอินเดีย ของอังกฤษ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเบงกอลทางตอนใต้ของอินเดีย
กัปตันไลท์ได้เข้าไปขอพระบรมราชานุญาต ผูกขาดการซื้อแร่ดีบุกเมืองถลาง จากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และตั้งสำนักงานอยู่ที่บ้านท่าเรือ ซึ่งก็ได้รับพระบรมราชานุญาตตามความประสงค์ เนื่องจากทรงมีพระราชดำริอยู่แล้วที่จะฟื้นฟูประเทศหลังสงคราม
ระหว่างที่คุณหญิงจันและครอบครัว ทำการค้า
แร่ดีบุกอยู่เมืองถลางในฐานะสามัญชนอยู่นั้น คุณเทียน บุตรชายที่เกิดกับหม่อมศรีภักดีภูธร ได้ค้นพบแหล่งแร่ดีบุกขนาดใหญ่ในบริเวณท้องที่ ที่มีชื่อว่า บ้านสะปำ คุณหญิงจันและสามี เห็นว่าเป็นผลประโยชน์อย่างยิ่งแก่แผ่นดิน ซึ่งขณะนั้นกำลังสูญเสียทางเศรษฐกิจเพราะสงครามเป็นอย่างมากจึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลมายังกรุงธนบุรี เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงทราบความแล้ว ทรงมีพระทัยปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง จึงโปรดเกล้า ฯ พระราชทานให้คุณเทียนเลือกเอา บำเหน็จตามที่ต้องการ คุณหญิงจันเห็นช่องทางที่จะฟื้นฟูอำนาจการเมืองการปกครอง และฐานะกลับคืนมา จึงแนะนำคุณเทียนบุตรชาย ขอสิทธิ์ขาดการปกครองในบริเวณที่พบแหล่งแร่เป็นผลให้ทรงโปรดเกล้า ฯ ตั้งคุณเทียน เป็นเจ้าเมืองภูเก็ต มีราชทินนามว่า “ เมืองภูเก็ต ” ( เนื่องจากอายุไม่ครบ 31 ปี จึงไม่มีสิทธิได้รับ บรรดาศักดิ์ เป็นขุนหรือหลวง อันเป็นบรรดาศักดิ์ขุนนาง ตามประเพณีสมัยนั้น ) ฝ่ายคุณหญิงจันเมื่อบุตรชายได้รับพระราชทานความดีความชอบ ก็พลอยได้รับพระราชทานความดีความชอบตามไปด้วย โดยโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนเป็น ท่านผู้หญิง แต่ครั้งนั้น
ต่อมาใน พ.ศ. 2319 เจ้านราสุริยวงศ์ ผู้ครองนครศรีธรรมราชถึงแก่พิราลัย
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงดำริเห็นว่า พระปลัดหนู เจ้านครศรีธรรมราชเดิม ที่ถูกนำตัวไปไว้ ณ กรุงธนบุรี ได้ประพฤติปฏิบัติตนด้วยความจงรักภักดีตลอดมา อีกทั้งได้ถวายบุตรีคนหนึ่งเป็นข้าบาทบริจาริกา แสดงถึงความมั่นคงใน จิตใจพอที่จะไว้วางพระราชหฤทัยได้จึงโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นเจ้าประเทศราชครองเมืองนครศรีธรรมราช พระยาพิมลขันธ์ สามีท่านผู้หญิงจัน ผู้ซึ่งจงรักภักดีต่อพระปลัดหนู ก็ได้กลับมาเป็นเจ้าเมืองถลางในครั้งนั้นด้วย โดยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ตามตำแหน่งเจ้าเมืองถลางในครั้งนั้นว่า พระยาสุรินทราชา พระยาพิมลขันธ์ และโปรด ฯ ให้เจ้าพระยาอินทวงศาเป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝั่งตะวันตก ตั้งวังอยู่ที่ปากพระ เมืองตะกั่วทุ่ง

ท่านผู้หญิงจันกับการยึดครองเมืองถลางของอังกฤษ...
ระหว่าง พ.ศ. 2323 – 2328 ก่อนศึกสงครามเก้าทัพ 5 ปี อังกฤษได้เข้ามาครอบครองอินเดียไว้ได้ เป็นส่วนใหญ่ และมีนโยบายที่จะแผ่อิทธิพลออกมาทางคาบสมุทรอินโดจีน กับมีความประสงค์ที่จะหาที่ตั้ง ท่าจอดเรือรบ และท่าเรือสินค้าทางฝั่งตะวันออกของอ่าวเบงกอล ดินแดนที่หมายตาเอาไว้คือ เกาะปีนัง และเมืองถลาง ผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อแผนการในครั้งนั้นก็คือ กัปตัน ฟรานซิส ไลท์ ( มีหลักฐานแผนการนี้ อยู่ในจดหมายของ กัปตัน ไลท์ ถึง ลอร์ด คอร์วาลลิส ซึ่งปัจจุบันเก็บอยู่ใน บริติชมิวเซียม ประเทศอังกฤษ )
ความเกี่ยวข้องระหว่างท่านผู้หญิงจัน กับ กัปตัน ไลท์ นั้น สืบเนื่องมาจากการค้าขายดีบุก ซึ่งเป็นสินค้าหลักสำคัญของเมืองถลาง จนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้ผูกขาดเป็นของหลวง โดยให้ซื้อขายผ่านทางเจ้าเมืองถลาง กับตัวแทนในสังกัดของ กัปตัน ไลท์ โดยตรง กัปตัน ไลท์ ผู้นี้หลังสงครามเก้าทัพได้ไปขอเช่าเกาะปีนังจากเจ้าเมืองไทรบุรี ตั้งสำนักงานค้าขาย ต่อมาตั้งตัวเป็นเจ้าเมืองปีนัง โดยได้นำเครื่องราชบรรณาการมาทูลเกล้าถวายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนนางไทยว่า พระยาราชกัปตัน
จากความเกี่ยวข้องดังกล่าว ประกอบกับอุปนิสัย ของท่านผู้หญิงจัน และสามี ที่มีความโอบอ้อมอารี มีความจริงใจ และมีสัจจะ ทำให้กัปตัน ไลท์ ให้ความเคารพนับถือ รักใคร่ห่วงใย ทั้งยังเคยให้ความช่วยเหลือ และปรึกษาข้อราชการกันอยู่เนือง ๆ ดังปรากฎอยู่ในเนื้อความจดหมายของท่านผู้หญิงจัน ที่มีไปถึง กัปตันไลท์ที่เกาะปีนัง เพื่อแสดงความขอบคุณในความเป็นห่วงท่านกับครอบครัวหลังศึกสงครามเก้าทัพ และขอให้ช่วยจัดซื้อข้าวมายังเมืองถลาง จดหมายลงวัน พฤหัส เดือนสิบเอ็ด ปีมะเมีย อัฐศก ( 29 มีนาคม 2329 ) มีใจความดังนี้
“ หนังสือท่านผู้หญิง จำเมริน มายังท่านพญาราชกัปตันเหล็ก ให้แจ้ง ด้วยมีหนังสือฝากให้แก่ นายเรือตะหน้าวถือมาเถิง เป็นใจความว่า เมื่อท่านอยู่ ณ เมืองมังลา รู้ข่าวไปว่าพม่ายกมาตีเมืองถลาง จะได้เมืองประการใด แลตูข้าลูกหลานทั้งปวง จะได้ไปด้วยหรือประการใดมิแจ้ง ต่อท่านมาถึงเมืองไซ รู้ไปว่าเมืองถลางไม่เสียแก่พม่า แลตูข้าลูกเต้าทั้งปวงอยู่ดีกินดี ค่อยวางใจลง ในหนังสือมีเนื้อความเป็นหลายประการนั้น ขอบใจเป็นหนักหนา……….
……….. แลตูข้าได้แต่งนายแช่มจินเสมียนอิ่ว คุมเอาดีบุกไปถึงท่านให้ช่วยจัดซื้อข้าวให้ อนึ่งถ้าข้าวสาร ณ เกาะปุเหล้าปีนังขัดสน ขอท่านได้ช่วยแต่งให้ผู้หนึ่งผู้ใดไปช่วยจัดซื้อข้าว ณ เมืองไซ ถ้าได้ข้าวแล้วนั้น ขอท่านได้ช่วยแต่งสุหลุปกำปั่นเอามาส่งให้ทัน ณ เดือนสิบเอ็ด ………..”
ความเคารพนับถือในตัวท่านผู้หญิงจันของ กัปตัน ไลท์ ยังเผื่อแผ่ความรักความปราถนาดีไปถึง คุณเทียน ( เมืองภูเก็ต ) เจ้าเมืองภูเก็ต บุตรของท่านผู้หญิงจัน ที่ต่อมาได้เป็น พระยาเพชรคีรีศรีสงคราม เจ้าเมืองถลาง และผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝั่งตะวันตก ดังมีข้อความปรากฎในจดหมายของพระยาเพชรคีรีศรีสงคราม มีไปถึงกัปตันไลท์ เพื่อแสดงความขอบคุณที่เป็นห่วงด้วยเกรงพวกแขกโจรสลัด และพวกไทรบุรี จะยกมาปล้นเมืองถลาง ดังมีข้อความต่อไปนี้
“ หนังสือท่านพระยาเพชรคีรีศรีสงคราม เจ้าพระยาถลาง บอกมายังท่านพระยาราชกัปตัน ผู้เป็นเจ้าเมืองเกาะปุเหล้าปีนัง ด้วยสลิบกอริกมาบอกว่า ท่านพญาราชกัปตัน สั่งมาว่า แขกเสกหะลีเหล่าร้าย ซึ่งเป็นโจร พ้นเกาะปุเหล้าปีนังมาเข้า ณ ปากน้ำเมืองไทร แล้วว่าพระยาไทรเป็นใจคิดอ่านเข้าด้วยกันกับแขกเหล่าร้ายจักคิดอ่านตีแห่งใดยังมิรู้ และอย่าให้ข้าพเจ้าไว้ใจแก่ราชการให้ตระเตรียมอยู่นั้น เป็นพระคุณของท่าน ซึ่งบอกมาให้รู้ตัวนั้นเป็นหนักหนาอยู่แล้ว………………. ”
ในปี 2328 ก่อนสงครามเก้าทัพไม่นาน แผนการยึดครองเมืองถลาง และเมืองปีนัง ของอังกฤษ ถูกยกเลิก โดย เซอร์ เจมส์ แมคเฟอสัน ข้าหลวงใหญ่อังกฤษ เปลี่ยนใจมาขอเช่าเฉพาะเกาะปีนัง โดยเว้นไม่เอาเมืองถลาง เนื่องจากรัฐบาลอังกฤษประสงค์ที่จะได้ท่าเรือรบ และท่าเรือสินค้าเพียงอย่างเดียว ไม่ประสงค์ที่จะยึดครองเป็นอาณานิคม อีกประการหนึ่ง อังกฤษคงเห็นว่าการปกครองชาวถลาง และการป้องกันรักษาเมืองนั้นยาก จำเป็นต้องใช้กำลังทหารมากถึงจะกำหราบอยู่ เนื่องจากชาวเมืองถลาง เป็นผู้รักความอิสระไม่ชอบให้คนต่างเชื้อชาติ ต่างเผ่าพันธ์ มาเป็นผู้ปกครองตน ซึ่งจะเห็นได้ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา สมัยพระนารายณ์มหาราช เป็นต้นมา ถลางถูกปกครองโดยคนฝรั่งเศส คนจีน และแขกไทรบุรี แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน ชาวเมืองต่างลุกฮือขึ้นต่อต้านทุกคราวไป
อย่างไรก็ตามสาเหตุประการหนึ่งที่ส่งผลให้อังกฤษไม่เอาเมืองถลาง ที่ไม่อาจจะละเลยไปได้ก็คือ การที่กัปตันไลท์ ต้นคิดแผนการยึดครองให้ความเคารพนับถือในตัวท่านผู้หญิงจัน จนไม่อาจทำสิ่งใดเป็นการหักหาญ ทำลายมิตรภาพลงได้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นบุญคุณอันยิ่งใหญ่ ของท่านผู้หญิง เมืองถลางจึงยังคงเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทยจนถึงทุกวันนี้
ท่านผู้จันกับห้วงวิกฤตในชีวิต...
หลังหมดยุด
กรุงธนบุรี สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อ พ.ศ. 2325 แล้ว พระองค์ได้ทรงปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทั้งภายในพระนครและหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อความเหมาะสมจนถึง พ.ศ. 2327 ทรงเห็นว่าหัวเมืองฝ่ายใต้ ได้แก่ เมืองนครศรีธรรมราช และเมืองบริวารหลายเมือง ไม่เต็มใจถวายความจงรักภักดีตามควรแก่เหตุการณ์ จึงโปรดให้พระยาธรรมไตรโลก เชิญสารตราตั้งออกมาแต่งตั้ง เจ้าอุปราช ( พัฒน์ ) ผู้เป็นบุตรเขยเจ้านครศรีธรรมราช ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองนครฯ แต่ให้มียศเพียงเจ้าพระยาตามประเพณีเมื่อครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีส่วนเจ้านคร ( หนู ) ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าประเทศราช แต่ครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น ทรงโปรดให้ถอดออกเสียจากตำแหน่ง และให้กลับเข้าไปอยู่ที่กรุงเทพ พระยาธรรมไตรโลก เมื่อได้จัดการมอบเมืองนครศรีธรรมราชให้แก่ เจ้าพระยานคร ฯ คนใหม่แล้วก็เดินทางมายังตะกั่วทุ่ง เพื่อถอดถอนเจ้าพระยาอินทวงศา ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝั่งตะวันตก และดูแลเร่งรัดภาษีดีบุก ของเมืองถลาง และเมืองต่าง ๆ ทางหัวเมือง ฝ่ายเจ้าพระยาอินทวงศา ซึ่งเป็นขุนนางผู้ใหญ่ ชั้นอัครมหาเสนาบดี เมื่อครั้งราชวงศ์ก่อน ไม่ยอมรับอำนาจทางเมืองหลวงจึงเลือกกระทำอัตนิวิบาตกรรม ฝ่ายพระยาสุรินทราชา พระยาพิมลขันธ์ เจ้าเมืองถลาง สามีท่านผู้หญิงจัน ผู้ซึ่งมีความจงรักภักดีต่อสมเด็จ พระเจ้าตากสินมหาราช อาจจะเห็นว่า เจ้านคร ( หนู ) เจ้านายผู้มีบุญคุณเคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาแต่เดิมถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งโดยไม่เป็นธรรม รวมทั้งมีข้อพิพาทกับพระยาธรรมไตรโลก เรื่องเงินภาษีอากรที่ค้างส่งให้ทางเมืองหลวง จึงยากที่จะทำใจยอมรับอำนาจใหม่ในทันทีทันใด จึงตัดสินใจกระทำอัตนิวิบาตกรรม เช่นเดียวกับเจ้าพระยาอินทวงศา เพื่อมิให้ได้ชื่อว่าเป็น ข้าสองเจ้าบ่าวสองนาย แต่ก็ไม่สิ้นใจในทันที เป็นแต่นอนเจ็บหนักอยู่ พระยาธรรมไตรโลก จึงแต่งตั้งพระยาทุกราช( ทองพูน ) ปลัดเมืองถลางขึ้นเป็นผู้ว่าราชการเมืองแทน พระยาทุกราช ( ทองพูน) ผู้นี้เป็นลูกพี่ลูกน้องกับท่านผู้หญิงจัน เมื่อครั้งพระยาพิมลขันธ์ ได้ขึ้นเป็น เจ้าเมืองถลาง เมื่อ พ.ศ. 2319 คุณทองพูนก็ได้รับการแต่งตั้งเป็น พระยาทุกราช ปลัดเมืองถลาง ในครั้งนั้นด้วย
ท่านผู้หญิงจันภายใต้สภาพปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองจนเป็นเหตุให้สามีเจ็บหนัก ตัวท่านเองก็ล่อแหลมที่จะต้องตกอยู่ในข่ายผู้ถูกเพ่งเล็งไม่รู้ว่าอนาคตผลจะออกมาดีร้ายประการใด ถึงกระนั้นก็ตามด้วยที่เห็นแก่บ้านเมืองและความถูกต้อง ท่านก็มิได้ย่อท้อ และมีสติตั้งมั่นยืนหยัดสู้กับปัญหาที่เข้ามาอย่างไม่สะทกสะท้าน ในระหว่างนั้นเองกัปตันไลท์ มาแจ้งข่าวว่าพม่ากำลังเตรียมยกทัพเข้ามาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ และขอจัดการเรื่องหนี้สินที่ค้างเกินกันอยู่ ท่านผู้หญิงจันเป็นห่วงบ้านเมืองขอร้อง กัปตันไลท์ ให้อยู่ช่วยรบพม่า แต่กัปตันไลท์คงเห็นว่าโอกาสที่จะชนะคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากตนเองได้ทราบข่าวแน่นอนแล้วว่า การศึกคราวนี้พม่ามีการจัดเตรียมรี้พล และสะสมเสบียงเป็นจำนวนมาก ประกอบกับความขัดแย้ง ระหว่างเมืองถลาง กับ ทหารกรุง ในขณะนั้น คงจะไม่มีหัวเมืองใด ๆ ที่จะมาช่วยไ ด้ จึงปฎิเสธให้ความช่วยเหลือ ท่านผู้หญิงจัน และรีบเร่งออกเรือสินค้าถอยออกจากเมืองถลางหนีทัพพม่าไปเมืองบังคลาเทศ ต่อมาไม่นานก่อนพม่ายกมาตีเมืองถลาง ประมาณหนึ่งเดือน พระยาถลาง ได้ถึงแก่กรรมลง งานฌาปนกิจยังไม่แล้วเสร็จ ท่านผู้หญิงจันก็ถูก พระยาธรรมไตรโลกคุมตัวไปที่ด่านปากพระ เมืองตะกั่วทุ่ง เพื่อเป็นตัวประกันเงินภาษีอากร ที่สามีผู้ถึงแก่กรรมติดค้างอยู่ จนเมื่อพม่าเข้าโจมตีค่ายปากพระ ท่านผู้หญิงจัน จึงได้ถือโอกาสหลบหนีกลับเข้ามาเมืองถลาง เพื่อเตรียมการ สู้ศึก ซึ่งคาดว่าคงจะมาถึงเมืองถลางในไม่ช้า
ท่านผู้หญิงจัน...
เมื่อท่านผู้หญิงจัน กลับมาถึงเมืองถลาง ปรากฎว่าบ้านช่องถูกทอดทิ้ง เพราะคนเฝ้ากลัวพม่า พากันหนีเข้าป่าไปหมดสิ้น ทรัพย์สมบัติก็ถูกผู้คนขโมยไปไม่มีเหลือ จึงต้องป่าวร้องเกลี้ยกล่อมผู้คนให้ ร่วมมือกันต่อสู้ ชาวบ้านเมื่อรู้ข่าวต่างก็พากันออกจากป่า รวมตัวกันเตรียมสู้ศึก หลังจาก ยี่หวุ่นนายกองพม่า คุมพล จำนวน 3,000 คน ตีเมืองตะกั่วทุ่งได้แล้ว จึงยกทัพต่อมายังเมืองถลาง ท่านผู้หญิงจันรู้ข่าวจึงได้ประชุมกรมการเมือง และนายทัพนายกองทั้งหลาย มีความเห็นฟ้องกันว่าทัพเรือพม่าจะต้องมาขึ้นบก ที่ท่าตะเภา เนื่องจากเป็นท่าเรือใหญ่ และใกล้เมืองถลางมากที่สุด และคงจะเข้าตีเมืองทางด้านหน้า เพราะด้านหลังเป็นที่กันดารยากแก่การเดินทัพ จึงได้ประกาศให้ราษฎรแถบท่าตะเภา ตลอดจนถึงบ้านดอนให้อพยพเข้ามาอยู่ในค่ายใหญ่ที่บ้านเคียน แล้วตั้งค่ายขึ้น 2 ค่าย** ค่ายหนึ่งตั้งอยู่ที่ นบนางตัก มีพระยาทุกราช ( ทองพูน ) ผู้ว่าราชการเมืองถลาง เป็นนายกอง คุมพลหลายร้อยคน มีปืนใหญ่ชื่อ “ พระพิรุณสังหาร ” ประจำค่าย อีกค่ายหนึ่งตั้งอยู่บ้านค่าย มีนายอาจ เป็นนายกอง มีปืนใหญ่ชื่อ “ แม่นางกลางเมือง ” ประจำค่าย หลังจากนั้นได้แบ่งกองยกออกขัดตาทัพตามจุดที่คาดว่าพม่าจะเข้ามา และตั้งกองสอดแนมลาดตระเวนหาข่าวข้าศึก ส่วนท่านผู้หญิงจันซึ่งเป็นผู้บัญชาการรบ และคุณมุกน้องสาว ผู้ช่วยนั้นหมั่นคอยตรวจตราดูแลความพร้อมอยู่ตลอดเวลา
เมื่อกองทัพพม่ายกมาถึงช่องแคบก็เข้ามาจอดที่ท่าตะเภา ทันทีที่พม่ายกพลขึ้นฝั่ง นักรบถลางก็ยกออกโจมตีทันที เป็นการหยั่งกำลังข้าศึก เสร็จแล้วพากันถอยไปตั้งอยู่ในค่าย พม่าเห็นทหารถลาง ล่าถอย จึงยกพลขึ้นตั้งค่ายใหญ่ ริมทะเล ที่ปากช่องค่าย เสร็จแล้วยกขึ้นมาตั้งค่ายอีก 2 ค่าย บริเวณที่ในปัจจุบันเรียกว่า นาโคกพม่า 1 ค่าย และที่บ้านนาถลาง 1 ค่าย แล้วชักปีกกาเข้าหากัน เผชิญหน้ากับค่ายของเมืองถลาง โดยมีคลองบางใหญ่ขวางอยู่ด้านหน้า เมื่อพม่ายกกองทัพเดินขบวนขยายปีกกาจะเข้าตีค่าย หรือข้ามน้ำมาทางค่ายไทยก็จะยิงตรึงด้วยปืนมณฑกสับคาบศิลา สลับกับปืนใหญ่เป็นห่าฝน ทำให้พม่าต้องแตกกระจายถอยหนีทุกครั้งไป จนขยาดไม่กล้ายกออกจากค่ายมาโจมตี ฝ่ายกองทัพเมืองถลาง เนื่องจากมีกำลังน้อยจึงไม่สามารถยกออกโจมตีพม่าให้แตกหักโดยซึ่งหน้าได้ ครั้นจะตั้งรับอย่างเดียว ก็เกรงว่าอาจจะเสียทีข้าศึกได้ จะรอให้กองทัพจากกรุงมาช่วยก็ไม่มีข่าวประการใด ท่านผู้หญิงจัน และคุณมุกรู้ข่าวว่า พม่ากำลังขาดแคลนเสบียงอาหาร จึงปรึกษากับกรมการเมืองออกอุบายคัดเลือกผู้หญิงอายุกลางคนประมาณ 500 เศษ แต่งกายเป็นทหารชายเอาทางมะพร้าวมามาตกแต่งถือต่างอาวุธปืนเพื่อลวงพม่า เมื่อจัดแจงเสร็จแล้ว ท่านผู้หญิงจันและคุณมุก ก็แต่งตัวอย่างแม่ทัพ ถือดาบขึ้นคานหาม จัดขบวนทัพสลับ ผู้ชายกับผู้หญิง เพื่อให้ดูว่ามีรี้พลมากแล้วยกออกจากค่าย ทำทีว่าจะเข้าตีค่ายพม่า ฝ่ายพม่าเห็นอย่างนั้นก็ยกพลออกจากค่ายมาจัดขบวนทัพเตรียมรับศึก ท่านผู้หญิงจันเห็นเช่นนั้น ก็สั่งให้ยิงปืนใหญ่พระพิรุณสังหาร ไปยังขบวนทัพพม่าจนแตกกระจัดกระจายบาดเจ็บล้มตายไม่น้อย ที่เหลือก็หนีกลับเข้าค่าย ครั้นเวลาค่ำ ท่านผู้หญิงจัน และคุณมุก ็พาพวกผู้หญิงกับผู้ชายที่มีอายุออกมานอกค่ายเข้าที่ซุ่มซ่อน รุ่งขึ้นท่านก็ยกขบวนกลับเข้าค่ายทำอย่างนี้ทุก ๆ วัน ตลอดเวลา 3 – 4 วัน จุดประสงค์เพื่อลวงพม่าให้เข้าใจว่าฝ่ายไทยมีไพร่พลมากจะได้ไม่กล้าโจมตี และหน่วงทัพพม่าไว้ให้ขาดเสบียงอาหาร จนเมื่อเห็นว่าระส่ำระสายแล้วจึงจะยกทัพเข้าตีให้แตกหัก
ทหารพม่าล้อมเมืองถลางอยู่ได้ประมาณเดือนเศษ ก็ยังไม่สามารถจะตีเอาเมืองได้เสบียงอาหารก็เริ่มขาดแคลน ซ้ำยังถูกฝ่ายไทยระดมยิงด้วยปืนใหญ่น้อยทุกวัน ยิ่งได้ข่าวว่า กองทัพพม่าทางด้านเมืองกาญจนบุรี ถูกทัพหลวงไทยตีแตกพ่ายไปแล้ว จึงเกิดความระส่ำระสายขึ้น ท่านผู้หญิงจันเห็นได้ทีจึงสั่งโจมตีจนทัพพม่าแตกพ่ายลงเรือหนีตายแล่นออกนอกอ่าวไป
เสร็จศึกพม่าเมื่อวันจันทร์ ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเส็ง จุลศักราช 1147 ซึ่งตรงกับวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2328 แล้ว กรมการเมืองถลางก็มีใบบอก เพื่อกราบทูลพระกรุณาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ตามความในพงศาวดาร
กรุงรัตนโกสินทร์ว่า
“ฝ่ายกรมการเมืองถลาง ครั้นพม่าเลิกกลับไปแล้ว ได้ข่าวว่าทัพหลวง สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จพระราชดำเนินออกมาตีทัพพม่าทางบกแตกไปสิ้นแล้ว จึงบอกข้อราชการมากราบทูลพระกรุณา ขณะเมื่อทัพหลวงยังเสด็จอยู่ที่เมืองสงขลาฉบับ 1 บอกเข้ามากราบทูลพระกรุณา ณ กรุงเทพมหานคร ฉบับหนึ่ง และขณะที่สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จกลับ ถึงพระนครแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชโองการโปรดให้ มีตราออกไปยังเมืองถลาง ตั้งกรมการผู้มีความชอบในการสงคราม เป็นพระยาถลางขึ้นใหม่แล้วโปรด ฯ ตั้งจันทร์ภรรยาพระยาถลางเก่า ซึ่งออกต่อสู้รบพม่านั้นเป็น ท้าวเทพสตรี โปรดตั้งมุกน้องหญิงเป็น ท้าวศรีสุนทร พระราชทานเครื่องยศโดยควรแก่อิสตรีทั้ง 2 คน ตามควรแก่ความชอบในสงครามนั้น…………….. ”
ท้าวเทพกระษัตรีหลังศึกถลาง...
ครั้นเสร็จศึกเมืองถลาง เกิดเรื่องบาดหมางไม่ลงรอยกันในเครือญาติของท่านผู้หญิงจัน กรณีผู้ที่จะมาเป็นเจ้าเมืองถลาง ท่านผู้หญิงจัน แม้ว่าจะมีความสามารถในการปกครองผู้คน และมีความดีความชอบสูงสุดในการรวบรวมผู้คน และบัญชาการรบ ด้วยยุทธวิธีที่เป็นเลิศ จนสามารถขับไล่พม่าพ้นไปจากเมืองถลางได้ แต่ก็ไม่สามารถขึ้นเป็นเจ้าเมืองได้ เนื่องจากเป็นสตรีเพศ ซึ่งไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ของชาติว่ามีการ ยกย่องสตรีให้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองมาแต่ก่อน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดเกล้า ฯ ให้เป็น ท้าวเทพกระษัตรี ซึ่งก็นับว่าเป็นเกียรติยศสูงส่งอันหาได้ยาก เช่นกัน
ฝ่ายเมืองภูเก็ต ( เทียน ) เจ้าเมืองภูเก็ต บุตรชาย คิดว่าตนเองควรที่จะได้รับโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งขึ้นเป็นเจ้าเมืองแทนสิทธิ์ของแม่ แต่เนื่องจากอายุยังน้อยอยู่ และยังมีญาติผู้ใหญ่คือ พระยาทุกราช ( ทองพูน ) ผู้ว่าราชการเมืองถลาง ซึ่งมีศักดิ์เป็น ลุง และได้ประกอบความดีความชอบในสงครามครั้งนั้นด้วย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงมีพระราชดำริว่ายังไม่เหมาะที่จะขึ้นเป็นเจ้าเมืองได้ใน ขณะนั้น จึงโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนยศและบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น พระยาทุกราช ( เทียน ) และเป็นเจ้าเมืองภูเก็ต ตามเดิม กับให้กินตำแหน่งปลัดเมืองถลางควบคู่ไปด้วย แต่ก็ได้รับคำมั่นสัญญาจาก สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ว่าจะให้กินตำแหน่งพระยาถลาง เมื่อถึงกาลที่ทรงเห็นว่าเหมาะสม ด้วยเหตุผลดังกล่าว พระยาทุกราช ( ทองพูน ) จึงได้รับโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองถลาง ได้รับพระราชทาน เจียดทองและตราตั้งเป็นทางราชการมีราชทินนามว่า พระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงครามนิคมคามบริรักษ์ ฯ
เมื่อเหตุการณ์เป็นดังนั้น ท้าวเทพกระษัตรี จึงไม่อยากเห็นการทะเลาะวิวาทจนกลายเป็นศึกสายเลือดซ้ำสอง เหมือนเมื่อครั้งที่เคยเกิดขึ้นคราวสิ้นบุญจอมร้างจึงได้ชวน ท้าวศรีสุนทร กับ พระยาทุกราช ( เทียน ) พากันมาตั้งหลักทำดีบุกอยู่ที่บ้านสะปำ เขตเมืองภูเก็ต บ้านเมืองหลังสงครามมีความเสียหาย และขัดสนด้วยข้าวสารที่จะนำมาบริโภค จึงจำเป็นต้องรีบเร่งแก้ไขเป็นการด่วน ท้าวเทพกระษัตรีเมื่อเห็นความทุกข์ยากของชาวเมืองก็อดที่จะช่วยเหลือไม่ได้ ทั้งที่ตัวท่านเองขณะนั้นก็ไม่มีอำนาจการปกครองใด ๆ และตกระกำลำบากอยู่เช่นเดียวกัน ทั้งปัญหาความขัดแย้งระหว่างลูกกับเจ้าเมืองถลาง ปัญหาหนี้สินภาษีอากรของสามีที่ติดค้างกับเมืองหลวง และหนี้สินที่ค้างเกินกันอยู่กับพระยาราชกัปตัน ที่ต้องรับผิดชอบดิ้นรนหามาใช้คืน แต่ด้วยความสงสารประชาชน และด้วยจิตวิญญานของความเป็นแม่เมืองถลาง จึงพยายามติดต่อหาซื้อข้าวสารให้ชาวเมืองได้บริโภค ประทังความอดอยากยากแค้น ดังปรากฎในจดหมายของท่านที่มีไปถึง พระยาราชกัปตัน ตามที่ได้กล่าว ไปแล้ว
นอกจากความรับผิดชอบที่ต้องทำนุบำรุงบ้านเมือง และความเป็นอยู่ของชาวเมืองทั้งหลายให้มีความอยู่ดีกินดีทั่วกันแล้ว ในฐานะความเป็นแม่ของลูก ท่านยังต้องจัดแจงส่งเสริมให้ลูกมีความเจริญก้าวหน้า สมควรตามหน้าที่ จากที่ได้กล่าวมาแล้ว พระยาทุกราช ( เทียน ) เจ้าเมืองภูเก็ต บุตรของท่านผู้นี้มีความประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะขึ้นเป็นเจ้าเมืองถลาง ท้าวเทพกระษัตรี จึงต้องเข้าทางเมืองหลวง เพื่อหาช่องทางให้ได้ตามความต้องการ การเดินทางเข้าเมืองกรุงเทพ ฯ ในครั้งนั้นจะไปแต่ตัวเปล่าก็ไม่เหมาะ จำต้องมีเครื่องบรรณาการ ไปถวายให้สมพระเกียรติ โดยเฉพาะอาวุธปืน ซึ่งจำเป็นต่อการป้องกันบ้านเมือง และจัดหาได้ยากในขณะนั้น ตัวท่านเองก็ขัดสนด้วยเงินทอง แต่ด้วยความรักและเมตตาต่อบุตรจึงเป็นธุระจัดการให้จนพระยาทุกราช( เทียน ) ได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองถลาง สมความปราถนาทุกประการ ดังปรากฏในจดหมายของท่านที่มีไปถึงพระยาราชกัปตัน ที่เกาะปีนัง เมื่อแจ้งกำหนดการเดินทางเข้าเมืองกรุง และขอให้ช่วยจัดส่งอาวุธปืน และสิ่งของต่างๆ ที่จะนำไปถวายเป็นเครื่องบรรณาการ หนังสือลง วันพุธ เดือนแปด แรมสี่ค่ำ ปีมะแม นพศก ฯ ความดังนี้
หนังสือข้าพเจ้าท่านผู้หญิง ปราณีบัติมายังโตกพญาท่านด้วย ณ เดือนแปดข้างแรมนี้ ข้าพเจ้าจะเข้าไปกรุงแน่ แต่จะมาทางตรัง ถ้าข้าพเจ้ามาถึง เกาะตะลิโบงแล้วจะให้พระยาทุกราช กับพ่อจุยมากราบเท้าพญานายท่าน จะขอพึ่งชื่อของท่านสักสามสิบสี่ภารา จะได้เอาไปแก้ไข ณ กรุง ให้พ้นกรมการเมืองถลางเบียดเสียดว่ากล่าว……………………
และให้โตกพญานายท่านจัดปืนสะตัน สัก 50 บอก ผ้าขาวก้านแย้งลายเครือ ผ้าขาวอุเหมาเนื้อดี แพรดาไหรสีต่างกัน น้ำมันจัน น้ำกุหลาบ และของต้องการใน……………………”
ท้าวเทพกระษัตรี ได้อยู่ช่วยราชการ พระยาถลางบุตรชาย จนอายุล่วงเลยเข้าชราภาพ ก็ถึงแก่กรรม ณ เมืองถลางนั้นเอง ส่วนท้าวศรีสุนทร ตามข้อเขียนของผู้สืบสกุลเมืองถลาง
ขุนนรภัยพิจารณ์ ( ไวย ณ ถลาง ) บอกว่าได้เข้าไปอยู่กรุงเทพ กับ พระปลัด ( อาจ ) ผู้เป็นสามี ครั้งนำตัวคุณทอง บุตรีท้าวเทพกระษัตรีไปถวายตัวเป็นข้าราชบริพาร ในรัชกาลที่ 1 ณ กรุงเทพ ฯ และไม่ได้กลับมาเมืองถลางอีกเลยจนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรม
งานท้าวเทพกษัตรี-ท้าวศรีสุนทร
ตรงกับวันที่ 13 มีนาคมของทุกปี มีการจัดงานเฉลิมฉลอง มีกิจกรรมต่างๆ มากมาย เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ที่สองวีรสตรีสามารถปกป้องเมืองถลาง ให้รอดพันจากข้าศึกพม่าและสดุดีในวีรกรรมของท่าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น