นับจำนวนผู้เข้าชม(counter

วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2553

จอมพล แปลก พิบูลสงคราม


ประวัติ
จอมพล แปลก พิบูลสงคราม เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๔๔๐ เวลาประมาณ ๐๗.๑๐ น. ณ บ้านแพปากคลองบางเขน อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี เป็นบุตรของนายขีดกับนางสำอาง ขีตตะสังคะ สมรสกับคนผู้หญิงละเอียด (พันธุ์กระวี)

เริ่มการศึกษาที่โรงเรียนกลาโหมอุทิศ วัดเขมาภิรตารามจังหวัดนนทบุรี ต่อมาได้เข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยทหารบกจนกระทั่งสำเร็จการศึกษาเมื่ออายุ ๑๙ ปี ได้รับยศร้อยตรี และประจำการที่กองพลที่ ๗ จังหวัดพิษณุโลก ต่อมาสามารถสอบเข้าโรงเรียนเสนาธิการได้เป็นที่ ๑ และได้ไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ประเทศฝรั่งเศส จนสำเร็จการศึกษา และกลับมารับราชการต่อไป

เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ พันตรี หลวงพิบูลสงคราม ได้เข้าร่วมกับคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเป็นกำลังสำคัญสายทหาร

ในปี พ.ศ.๒๔๗๗ ได้เลื่อนยศเป็นพันเอก และดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก

พันเอก หลวงพิบูลสงคราม เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๔๘๑ โดยการลงมติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และในช่วงที่ดำรงตำแหน่งก็ได้เลื่อนยศเป็นพลตรี จนกระทั่งในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๘๔ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลตรีหลวงพิบูลสงคราม เป็นจอมพล แปลก พิบูลสงคราม

ตลอดเวลาที่บริหารประเทศ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ได้สร้างผลงานเกี่ยวกับนโยบายสร้างชาติและการปลูกฝังความรู้สึกชาตินิยมให้แก่ประชาชนอย่างมากมาย เช่น การเปลี่ยนชื่อประเทศสยามมาเป็นประเทศไทย การเรียกร้องดินแดนทางด้านอินโดจีนคืนจากฝรั่งเศส การปลูกฝังความนิยมไทย และการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมไทยบางอย่าง เช่น การให้สตรีเลิกนุ่งโจงกระเบนแล้วหันมาสวมกระโปรงแทน การให้ประชาชนเลิกกินหมากพลู การตั้งชื่อผู้ชายให้มีลักษณะเข้มแข็ง ผู้หญิงให้แสดงถึงความอ่อนหวาน การส่งเสริมการศึกษาวิชาการแก่ประชาชน โดยเฉพาะได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยเฉพาะวิชา เช่น มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหิดล) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นต้น

เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกในประเทศไทย จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทย และในที่สุดได้ทำสัญญาพันธมิตรทางการทหารและเศรษฐกิจกับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผลให้ภายหลังเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ เสร็จสิ้นลง จอมพล แปลก พิบูลสงคราม จึงต้องตกเป็นผู้ต้องหาอาชญากรรมสงครามและถูกจับกุมคุมขังเป็นเวลาหลายเดือน

จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ได้บริหารประเทศมาถึง ๘ สมัย จนกระทั่งในวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นได้ทำการรัฐประหาร ทำให้คนต้องลี้ภัยการเมืองไปพำนักยังประเทศเขมรเป็นเวลา ๒ เดือน และย้ายไปพำนักอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อินเดียและได้กลับไปพำนักอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจวาย ณ บ้านพักที่ตำบลซากามิโอโน ชานกรุงโตเกียว เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๐๗ รวมอายุได้ ๖๗ ปี
ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง
สมัยที่ ๑
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๙ : ๑๖ ธันวาคม ๒๔๘๑ - ๖ มีนาคม ๒๔๘๕
สมัยที่ ๒
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๑๐ : ๗ มีนาคม ๒๔๘๕ - ๑ สิงหาคม ๒๔๘๗
สมัยที่ ๓
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๒๑ : ๘ เมษายน ๒๔๙๑ - ๒๔ มิถุนายน ๒๔๙๒
สมัยที่ ๔
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๒๒ : ๒๕ มิถุนายน ๒๔๙๒ - ๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๔
สมัยที่ ๕
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๒๓ : ๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๔ - ๖ ธันวาคม ๒๔๙๔
สมัยที่ ๖
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๒๔ : ๖ ธันวาคม ๒๔๙๔ - ๒๓ มีนาคม ๒๔๙๕
สมัยที่ ๗
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๒๕ : ๒๔ มีนาคม ๒๔๙๕ - ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐
สมัยที่ ๘
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๒๖ : ๒๑ มีนาคม ๒๕๐๐ - ๑๖ กันยายน ๑๕๐๐