วันวิสาขบูชา เป็นวันบูชาเพื่อน้อมระลึกถึงวันที่สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ซึ่งเกิดขึ้นในวันและเดือนเดียวกันนับว่าเป็นวันอัศจรรย์ยิ่ง คือ ในวันเพ็ญ ( ขึ้น ๑๕ ค่ำ) เดือนหก หรือเดือนเวสาขะ พระจันทร์เสวยวิสาขฤกษ์ เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ได้เกิดขึ้นเมื่อกว่าสองพันห้าร้อยปีมาแล้วในห้วงระยะเวลาที่ต่างกัน
คำว่า "วิสาขบูชา" หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญเดือน ๖ โดยย่อมาจาก “ วิสาขปุณณมีบูชา ” แปลว่า “ การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ” ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหน ก็เลื่อนไปเป็นกลางเดือน ๗
วันประสูติ ของพระพุทธเจ้าเป็นวันสำคัญยิ่ง เพราะเป็นวันเกิดของเอกอัครบุรุษ ผู้เลิศกว่าเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย หาผู้เสมอเหมือนมิได้ ตรงกับวันเพ็ญวิสาขปุณณมี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี เวลาสายใกล้เที่ยง ประสูติ ณ ป่าลุมพินีวัน ใต้ต้นสาละ ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ ปัจจุบันเรียกตำบล รุมมินเด แขวงเปชวาว์ ประเทศเนปาล พระองค์ได้รับพระนามว่า “ สิทธัตถะ ” แปลว่า มีความต้องการสำเร็จ หรือ สำเร็จตามที่ต้องการ
วันตรัสรู้ ของพระพุทธเจ้า ตรงกับวันขึ้น ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี หลังจากออกผนวชได้ ๖ ปี และขณะนั้นมีพระชนมายุ ๓๕ พรรษา เวลาเช้า ณ ใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของประเทศอินเดีย เป็นวันที่สำคัญยิ่งอีกวันหนึ่งของโลก เพราะเป็นวันสำเร็จเป็นองค์พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทรงรู้แจ้งอริยสัจธรรม ๔ คือ
ทุกข์ ความทุกข์ สภาพที่ทนได้ยาก เช่น ความเกิด ความแก่ ความตาย ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ การประจวบกับสิ่งที่ไม่รัก การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ความปรารถนาไม่สมหวัง ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
สมุทัย เหตุแห่งทุกข์เกิดขึ้น คือ “ ตัณหา ” กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา
นิโรธ ความดับทุกข์ ภาวะที่ตัณหาสิ้นไป จิตหลุดพ้นจากกิเลส เครื่องเศร้าหมองทั้งปวง นิพพาน
มรรค ทางปฏิบัติถึงความดับทุกข์ มีองค์ประกอบ ๘ ประการ เรียกว่า มัชฌิมาปฏิทา คือ เห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ กระทำชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ และตั้งจิตมั่นชอบ
รวมความว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น คือ ทรงรู้ว่าทุกข์คืออะไร หรืออะไรเป็นตัวทุกข์ รู้เหตุทำให้เกิดทุกข์ รู้การดับทุกข์โดยสิ้นเชิง และทรงรู้ที่จะปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ได้
วันเสร็จดับขันธปรินิพพาน หลังจากตรัสรู้แล้ว ได้ประกาศพระพุทธศาสนา และโปรดเวไนยสัตว์ ๔๕ ปี ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน รวมพระชนมายุ ๘๐ ปี เมื่อขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปี ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ระหว่างไม้สาละคู่ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ ปัจจุบันอยู่ในเมือง กุสีนคระ แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย
ในราตรีนั้น ได้มีปริพาชกผู้หนึ่ง ชื่อสุภัททะขอเข้าเฝ้า และได้อุปสมบทเป็นพระพุทธสาวกองค์สุดท้าย เมื่อถึงยามสุดท้ายของคืนนั้นพระพุทธองค์ก็ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด ” หลังจากนั้นก็เสด็จเข้าดับขันธ์
กล่าวโดยสรุปคือ วันประสูติ ตรัสรู้ของพระพุทธองค์ เป็นวันที่ชาวโลกได้บุคคลสำคัญที่สุดในโลก วันปรินิพพานเป็นวันที่ชาวโลกสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และวันทั้ง ๓ นี้ตกอยู่ในวาระเดียวกัน คือ วันเพ็ญเดือนวิสาขะ วันนี้จึงนับเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งทางพระพุทธศาสนา องค์การสหประชาชาติได้เล็งเห็นความสำคัญของวันนี้ จึงประกาศให้เป็น “ วันสำคัญสากลโลก ” ( Vesak Day )
การจัดงานวันวิสาขบูชาในประเทศไทย ได้เริ่มกระทำมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ดังตำนาน “ อันพระนครสุโขทัยธานี ถึงวันวิสาขนักขัตฤกษ์ครั้งใด ก็สว่างไสวด้วยแสงประทีป เทียน ดอกไม้เพลิงง... ” ในสมัยอยุธยาไม่ปรากฏหลักฐาน ส่วนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ได้ทรงฟื้นฟูพิธีวิสาขบูชาให้เป็นแบบแผนขึ้น และกระทำสืบต่อกันมาจนปัจจุบัน
การบูชาในวันวิสาขบูชาของชาวพุทธ ท่านกล่าวไว้มี ๒ ประการ คือ อามิสบูชา การบูชาด้วยวัตถุสิ่งของ ดอกไม้ธูปเทียน ปฏิบัติบูชา คือการบูชาด้วยการปฏิบัติธรรม การบูชาทั้ง ๒ ประการนี้ พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ ปฏิบัติบูชาเป็นการบูชาอย่างยิ่ง เพราะการประพฤติ ปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ มีประโยชน์มากจนประโยชน์สูงสุด คือ นิพพาน และทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น